รู้จัก Hooked Model เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ให้ติดหนึบ

การตลาด

GlobalLinker Staff

239 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

 

ทำไมเราต้องเช็ก Facebook, Instagram, Twitter หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ เผลอเป็นเปิดแอปพลิเคชันเหล่านี้ทุกทีสิน่า อยากรู้ว่ามีใครโพสต์อะไรบ้าง เทรนด์อะไรที่เขากำลังพูดถึงกัน มีใครกดไลก์กดแชร์โพสต์ของเราบ้างหรือเปล่า หรือบางทีก็อยากจะประกาศเรื่องราวบางอย่างให้โลกรู้ ฯลฯ มีใครไม่เคยเป็นบ้างไหม คาดว่าน่าจะมีบ้างแต่ก็คงน้อยมาก

 

ลองถามตัวเองดูว่าเราติดแอปเหล่านี้เพราะอะไร ไม่ใช่ว่าเราเหลวไหลหรอกนะ แต่เป็นเพราะว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้เขามีการวางแผนออกแบบประสบการณ์การใช้งานผ่านกระบวนการคิดด้านจิตวิทยามาแล้วเป็นอย่างดี เป็นการออกแบบที่หากผู้ใช้งานหรือ user ได้ใช้ product ที่ได้รับการออกแบบที่ว่านี้จนติดหนึบหรือมีการ engage อย่างต่อเนื่อง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัย (habit) ให้ผู้ใช้ทำไปโดยไม่ต้องคิด ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือวิธีการของ Hooked Model นั่นเอง

 

“Hooked Model” ปรากฏในงานเขียนของ Nir Eyal ผู้เขียนหนังสือ Hooked: How to Build Habit-Forming Products (ฉบับแปลไทยชื่อ สร้างของให้คนติด : Hooked) อธิบายให้เห็นว่าแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกอย่าง Facebook หรือ Instagram นั้นไม่ได้มาแบบเล่น ๆ แต่ได้มีการออกแบบผ่านโมเดล ‘Hook’ 

 

ซึ่งโมเดลนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการแก้ปัญหาใหญ่โตอะไร หากแต่เป็นการใช้งานแบบมีไว้ก็ดีนะ เป็นการออกแบบประสบการณ์การใช้งานโดยเชื่อมโยงการแก้ปัญหาเข้ากับ “ความถี่” ในการใช้งานจนไปสู่การเกิดเป็นนิสัย เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ จาก “แค่มี” กลายเป็น “ขาดไม่ได้” 

 

ลองคิดดูว่าหากเราลบบัญชีผู้ใช้ Facebook ของเราไป คงต้องเกิดความยุ่งยากในชีวิตไม่น้อยทีเดียว เพราะคงต้องตามดาวน์โหลดรูปภาพต่าง ๆ ในชีวิตของเรา รายชื่อติดต่อทั้งกลุ่มครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในชีวิต ฯลฯ แค่คิดก็ต้องยกมือขึ้นมากุมขมับแล้ว

 

4 ขั้นตอนของ “Hooked Model” ประกอบด้วย

 

1. Trigger คือตัวกระตุ้นที่ทำให้คนมาใช้ product แบ่งเป็น 2 แบบคือ

 

- External trigger (ตัวกระตุ้นจากภายนอก) อาจเป็นพวกข้อมูลต่าง ๆ หรือสิ่งเร้าภายนอก เช่น เสียงนาฬิกาปลุก การแจ้งเตือนพวก notification, reminder หรือโฆษณาต่าง ๆ 

 

- Internal trigger (ตัวกระตุ้นจากภายใน) มาจากความรู้สึกของผู้ใช้งาน ส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ด้านลบ เช่น ความรู้สึกเบื่อ ความเหงา ความกลัว วิตกกังวล หากไม่มีอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้คงไม่รู้สึกร่วมกับประสบการณ์จาก product อาจรำคาญด้วยซ้ำ 

 

2. Action คือการกระทำที่ผู้ใช้งานคาดหวังรางวัลหรือ rewards ควรเป็นการกระทำที่เรียบง่าย ทำน้อย ได้ผลเร็ว และได้รางวัลแบบหลากหลาย คาดเดาไม่ได้ ไม่ซ้ำ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น การไถฟีดแล้วได้อ่านเรื่องราวที่สนใจใหม่ ๆ จำนวนยอดกดไลค์หรือแชร์จากการโพสต์ 

 

3. Rewards แบ่งเป็น 3 ประเภท ที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือ


- The Tribe ความรู้สึกของการได้รับการยอมรับ เป็นคนสำคัญ มีสังคม มีเป็นกลุ่มก้อน เช่น การรู้ข่าวสารจากกลุ่มเพื่อน การได้ยอดไลก์หรือแชร์และการคอมเม้นท์จากเพื่อน

 

- The Hunt การพบคำตอบที่ต้องการหา การรู้ข้อมูลข่าวสารหรือ product ที่ค้นหา เช่น การพบข้อมูลที่ต้องการจาก Google ไอเดียที่ตอบโจทย์จาก Pinterest การได้สิ่งของที่เป็น collection ที่ต้องการ


- The Self ความรู้สึกถึงการประสบความสำเร็จในตัวเอง รู้สึกชื่นชมในตัวเอง หรือความรู้สึกว่าตัวเองเก่ง มีความสามารถ มีประสิทธิภาพ เช่น การผ่านแต่ละด่านในเกม การจัดการงานลุล่วง การเคลียร์อีเมลหรือข้อความในไลน์

 

การตั้งคำถามเกี่ยวกับตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เริ่มจากเราจะสร้างความพึงพอใจได้อย่างไร ควรสร้างรูปแบบไหน แยกประเภทหรือสร้างรวมกันได้ไหม ฯลฯ แต่สิ่งที่ควรระลึกคือการออกแบบ reward ควรให้ตอบสนองกับตัวกระตุ้นจากภายในหรือ Internal Triggle เพราะเป็นแรงกระตุ้นที่รุนแรง

 

4. Investment คือการที่ผู้ใช้งานลงทุนลงแรงกับ product ของเราเพื่อคาดหวังรางวัลในอนาคต เช่น การลงทุนลงแรงอัปเดตโปรไฟล์ใน Facebook หรือ Linkedin การอัปโหลดรูปใน Facebook หรือ IG การกดไลก์ แชร์ คอมเมนท์โพสต์ต่าง ๆ การเขียน blog และอีกมากมาย เป็นการสะสมคุณค่า, ข้อมูล, ชื่อเสียง ความทรงจำของผู้ใชัไว้ 

 

Investment ที่ดีนั้นมักจะเป็น External trigger ที่ตอบโจทย์  Internal Triggle อีกทีนึง และทำให้ผู้ใช้ งานกลับมาใช้ product ของเราซ้ำ ๆ ยิ่งผู้ใช้งานลงทุนลงแรงและใช้เวลาไปมากเท่าใด product ของเราก็ยิ่งตอกลึกลงไปในใจผู้ใช้มากเท่านั้น

 

รูปแบบของการสร้างโมเดลแบบ Hooked นี้จึงมีลักษณะเหมือนอินฟินีตี้ (∞) จาก Trigger-ตัวกระตุ้น ไปเป็น Action-การกระทำ ได้รับ Reward-ความพึงพอใจ และเกิด Investment-การตอบแทนกลับมายัง product ของเรา และกลับไปเป็นตัวกระตุ้นอีกครั้งนั่นเอง

 

1. Trigger 

- External trigger (ตัวกระตุ้นจากภายนอก)

- Internal trigger (ตัวกระตุ้นจากภายใน)

3. Rewards 

- The Tribeความรู้สึกของการได้มีสังคม 

- The Hunt การพบคำตอบที่ต้องการหา

- The Self ความรู้สึกตนเองประสบความสำเร็จ

4. Investment 

การลงทุนเพื่อคาดหวังรางวัลในอนาคต มักกลับมาเป็น External trigger ที่ตอบโจทย์  Internal Triggle อีกทีหนึ่ง 

2. Action

การกระทำที่เรียบง่าย ทำน้อย ได้ผลเร็ว และได้รางวัลแบบหลากหลาย คาดเดาไม่ได้ ไม่ซ้ำ ตอบสนองความต้องการ

 

 

โพสต์โดย

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Content Team

GlobalLinker Thailand / Bangkok, Thailand

บทความแนะนำสำหรับท่าน

แรงบันดาลใจสำหรับ SME

GlobalLinker Thailand - ใครๆ ก็ลิงก์ แล้วคุณล่ะ?