ออกแบบ ‘นามบัตร’ ด้วยตัวเอง เพื่อธุรกิจ SMEs

ออกแบบ ‘นามบัตร’ ด้วยตัวเอง เพื่อธุรกิจ SMEs

ไอเดียและนวัตกรรม

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

322 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

สำหรับนักธุรกิจแล้ว ‘นามบัตร’ คือสิ่งหนึ่งที่ต้องมีและพกติดตัวอยู่เสมอ เพราะเราต้องแนะนำตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องพบปะหรือประชุมร่วมกับนักธุรกิจคนอื่น ๆ จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน ‘นามบัตร’ เพื่อทำความรู้จักกันทั้งในส่วนของบุคคลและส่วนของธุรกิจ และเพื่อการร่วมงานกันในอนาคตด้วย

 

‘นามบัตร’ จึงเปรียบเสมือนการแสดงตัวตนของธุรกิจทางหนึ่ง โดยมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการออกแบบนามบัตรให้สวยงาม โดดเด่น และเหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่ง ‘นามบัตร’ ที่มีการออกแบบที่ดี จะช่วยให้ผู้รับสามารถจดจำเราหรือบริษัทของเราได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

 

การออกแบบ ‘นามบัตร’ ให้เหมาะสมกับธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจเทคนิคและหลักการออกแบบ เราก็สามารถออกแบบนามบัตรได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องมี 4 องค์ประกอบนี้

 

1. แนวคิด (Concept)

การวางคอนเซปต์เพื่อการออกแบบนามบัตรนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของธุรกิจได้เป็นอย่างดี การออกแบบนามบัตร จึงควรคำนึงถึงจุดเด่นของธุรกิจที่ต้องการสื่อสารให้มากที่สุด โดยการออกแบบอาจอ้างอิงตามคอนเซปต์ Less is more ที่เรียบง่าย สะอาดตา คุมโทนสีให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพราะนอกจากจะออกแบบได้ง่ายแล้ว ยังเป็นดูเป็นมิตรและเข้ากันได้กับทุกธุรกิจอีกด้วย

 

หากต้องการให้นามบัตรดูมีอัตลักษณ์ชัดเจนขึ้นไปอีก อาจออกแบบโดยการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างออกไป โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธุรกิจด้วย ยกตัวอย่าง ธุรกิจเกี่ยวกับโยคะ อาจสร้างกิมมิคให้กับนามบัตร โดยการเลือกใช้โฟมหรือเสื่อโยคะ มาเป็นวัสดุแทนกระดาษ เป็นต้น

 

2. เนื้อหา (Content)

‘เนื้อหา’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนามบัตร เพราะเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้ประกอบการและธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง ชื่อบริษัทหรือช่องทางการติดต่อ ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของข้อมูลเนื้อหานั้น ต้องเขียนให้ถูกต้อง ชัดเจนและครบถ้วน อีกทั้งนามบัตรยังควรมีอย่างน้อย 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้รับได้ทำความเข้าใจและรับรู้อย่างถูกต้อง และเพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับบริษัทต่างประเทศ อีกทั้งยังถือเป็นนักธุรกิจมืออาชีพได้อีกด้วย

 

3. ตัวหนังสือ (Font)

‘ฟอนต์’ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้นามบัตรดูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งการเลือกฟอนต์ที่เหมาะสมกับนามบัตรและธุรกิจนั้น อาจเป็นฟอนต์ที่บริษัทใช้เป็นประจำ หรืออาจเลือกใช้ฟอนต์อื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน โดยจะต้องเลือกฟอนต์ที่ดูเรียบง่าย ไม่มีลวดลาย และเข้ากับรูปแบบของนามบัตรด้วย

 

ฟอนต์ที่นักออกแบบนิยมนำมาใช้กับงานดีไซน์บนนามบัตรนั้น มีทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและฟรี ซึ่งฟอนต์ที่ถูกนำมาใช้บ่อย ๆ คือ Super Market, Sukhumvit, RSU, TH Sarabun new, QUARK, Circular ฯลฯ

 

หากใครอยากได้ฟอนต์อื่น ๆ เพิ่มเติมแล้วละก็ Google Font ใจดี ปล่อยฟอนต์ออกมาให้ดาวน์โหลดไปใช้กันได้แบบฟรี ๆ ถึง 878 ฟอนต์ด้วยกัน โดยเป็นฟอนต์ไทยทั้งหมด 12 ฟอนต์ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ว่าแม้จะเป็นฟอนต์ฟรี แต่ก็สร้างความเป็นมืออาชีพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

4. สี (Color)

สำหรับองค์ประกอบสุดท้าย การเลือกใช้สีในการออกแบบนามบัตร ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ การเลือกใช้สีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ และส่วนที่สอง คือ การเลือกใช้สีสำหรับสิ่งพิมพ์

 

หากพูดถึง “สี” นั้น มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของคนเราเป็นอย่างมาก นอกจากจะช่วยสร้างการจดจำแล้ว ยังถือเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผลสำรวจของ Simon Bonello (2013) ได้พูดถึงการเลือกใช้สีในการสร้างโลโก้แบรนด์จะช่วยเพิ่มการรับรู้และเข้าถึงแบรนด์ได้มากถึงร้อยละ 73 และช่วยให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 80 อีกด้วย

 

สำหรับการเลือกใช้สีกับสิ่งพิมพ์ ต้องเลือกใช้ระบบสี CMYK (Cyan-Magenta-Yellow-Black) ในการออกแบบ เพราะหากเลือกระบบสี RGB (Red-Green-Blue) กับสิ่งพิมพ์ จะส่งผลให้สีที่ออกมานั้นผิดเพี้ยนไปจากที่คาดหวังไว้ เนื่องจากการแสดงค่าสีของ RGB นั้นจะใช้กับแหล่งกำเนิดแสง เมื่อนำมาใช้กับสิ่งพิมพ์ที่ทึบแสงจึงทำให้สีได้แตกต่างจากสิ่งที่เห็นเมื่ออยู่บนจอคอมพิวเตอร์ กลับกันระบบสี CMYK จะแสดงผลได้ดีกว่าเมื่อใช้กับสิ่งพิมพ์

 

จาก 4 องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่า การออกแบบนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากเรารู้หลักการและองค์ประกอบก็สามารถดำเนินการออกแบบนามบัตรด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย

 

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์มากมายที่สามารถออกแบบนามบัตรได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง เพียงลงทะเบียนก็สามารถเข้าใช้บริการและปรับแต่งจากรูปแบบดั้งเดิมได้เลย ทั้งรูปแบบ สี และฟอนต์ หรือจะออกแบบนามบัตรผ่าน Microsoft Word โดยเลือก Business Cards จากนั้นเลือกรูปแบบที่ต้องการและทำการแก้ไข เพียงเท่านี้ก็มีนามบัตรสวย ๆ ไว้ใช้งานกันได้แล้ว

 

อีกทั้งปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทำให้นามบัตรที่ระบุเพียงชื่อและข้อมูลติดต่อ อาจดูธรรมดาไปสักหน่อย และจากเดิมที่เป็นเพียงกระดาษ ก็อาจเกิดความเสียหายหรือสูญหายได้ง่ายด้วย จนกลายมาเป็นนามบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถทำได้มากกว่าการระบุชื่อ และข้อมูลการติดต่อ เพราะสามารถเพิ่มข้อมูลผลงาน Portfolio วิดีโอ ลิงค์เว็บเพจ แผนที่ ฯลฯ ลงไปในนามบัตรได้อีกด้วย และสามารถส่งผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในยุคนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด การออกแบบนามบัตรที่เรียบง่าย หรือการออกแบบที่ดูอัดแน่นจนเกินไป รวมไปถึงการใช้สีที่ไม่สื่อความหมายถึงธุรกิจ อาจสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้รับได้ไม่ดีนัก หรืออาจสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อธุรกิจไปเลยก็ได้เช่นกัน

 

เราจึงควรใส่ใจในการออกแบบนามบัตรและคำนึงถึงแนวคิดของธุรกิจด้วย เพื่อความเป็นมืออาชีพและความน่าเชื่อถือของธุรกิจเราเอง

 

Comments