ตามเก็บภาษี Google YouTube Facebook Line

ตามเก็บภาษี Google YouTube Facebook Line

ภาษีและการตรวจสอบ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

365 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

SME หลายรายอาจจะกำลังติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีจากการโฆษณากับบรรดาเว็บไซต์ดังที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น Facebook Google YouTube หรือ Line เรื่องนี้อาจมีบางคนหงุดหงิดว่าเว็บไซต์ต่างประเทศเหล่านี้ต่างโกยเงินออกนอกประเทศไปทุกวันๆ แต่กลับไม่ต้องเสียอะไรเลย ทั้งที่เม็ดเงินที่บริษัทเหล่านี้ดูดไปจากการโฆษณาตกปีละไม่ต่ำกว่า 12,000-15,000 ล้านบาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาเจ้าของธุรกิจทั้งหลายที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาให้กับเว็บไซต์โซเชียลมีเดียดังกล่าวยังต้องคอยตามข่าวต่อไปว่าตนเองนั้นจะต้องได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างหากได้ข้อสรุปถึงวิธีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวออกมา

 

แนวคิดในการจัดเก็บภาษีกับโซเชียลมีเดียเหล่านี้ย่อมต้องส่งผลกระทบต่องบประมาณในการลงโฆษณาอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐเพราะรัฐไม่สามารถรับรู้ถึงรายรับที่บรรดาโซเชียลมีเดียดังกล่าวได้รับจริงๆ เนื่องจากสำนักงานของบริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่ในต่างประเทศไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้ทางสรรพากรแทบไม่สามารถตามเก็บภาษีได้เลยสักบาท แม้จะตามเก็บได้บ้างแต่ก็น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับตัวเลขที่หากสามารถจัดเก็บภาษีได้แล้วละก็คิดเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงถูกมองว่าบริษัทเหล่านี้เอาเปรียบเหมือนเสือนอนกินมานานแล้ว ทั้งที่เว็บไซต์ในประเทศต่างต้องจ่ายภาษีตามกฎหมายกันโดยถ้วนหน้า

 

ซึ่งมีความพยายามมองหาแนวทางตามช่องทางของกฎหมายที่มีอยู่ก็เห็นแต่ผลกระทบที่จะมีต่อเจ้าของธุรกิจที่ซื้อโฆษณากับเว็บไซต์ดังกล่าวเท่านั้น อันนี้กำลังพูดการเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% ภาระก็จะไปตกอยู่ที่ผู้ซื้อโฆษณาที่ต้องเป็นผู้จ่ายค่า VAT นี้เอง เพราะคงไม่สามารถไปตามเก็บจากที่ไหนได้ เว็บไซต์ดังกล่าวก็ยังรอดตัวอยู่ดี

 

จริงๆ ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มองหาแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้อยู่ หลายประเทศก็เริ่มเคลื่อนไหวและออกกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหานี้อยู่เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ไม่ใช่น้อยเพราะต่างก็เผชิญกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน

 

ที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคเดียวกันกับไทยอย่างอินโดนีเซียได้มีการตรวจสอบ 4 บริษัทใหญ่ที่เข้ามาให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้ง Google Twitter Yahoo และ Facebook ในเรื่องของการเลี่ยงการจ่ายภาษี และประกาศให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจต้องเสียภาษีให้รัฐและต้องจัดตั้งสาขาหรือบริษัทนิติบุคคลเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายของอินโดนีเซีย

ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็ถูกจับตามองมาโดยตลอดเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ โดยเฉพาะ SME ที่จ่ายค่าโฆษณาให้กับบริษัทเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ทุกวันๆ ซึ่งท่าทีที่กรมสรรพากรจะไม่ปล่อยให้บริษัทดังกล่าวเอาเปรียบอีกต่อไปดูเหมือนจะได้รับเสียงสนับสนุนอยู่มาก แม้ว่าจะมีบางเสียงที่มีข้อท้วงติงในเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่๐ ของรัฐหรือการก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0

 

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากบรรดาผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอี-คอมเมิร์ซต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือสมควรที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีจากเว็บไซต์ดังเหล่านี้ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศอย่างที่ควรจะต้องเป็น และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการในประเทศด้วย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งนั่นคือวิธีการในการจัดเก็บที่เหมาะสม ควรที่จะต้องร่วมมือรวมกลุ่มกันของประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป คงต้องรอฟังความคืบหน้าต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร หวังว่าจะมีข่าวดีเป็นของขวัญแก่ SME ของไทยในเรื่องนี้

 

ตามเก็บภาษี Google YouTube Facebook Line

Comments