328 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที
“ภาษี” เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องชำระให้กับรัฐบาลตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป ซึ่งรายได้จากภาษีที่ทุกคนจ่ายเป็นรายได้หลักของภาครัฐในทุก ๆ ประเทศ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพและภาษีที่ได้จากการประกอบกิจการต่าง ๆ ส่วน ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนเมื่อซื้อของและบริการต่าง ๆ ที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้แล้วการเสียภาษีเป็นการควบคุมพฤติกรรมของคนในรัฐนั้น ๆ ด้วย เช่น การควบคุมภาษีโรงงานยาสูบ โรงเหล้าต่าง ๆ หากต้องการให้คนบริโภคน้อยลงก็ให้มีการเพิ่มภาษีมากขึ้น ฯลฯ
เราคือ SMEs แบบไหน
การแบ่งประเภทของ SMEs นั้นมี 2 ลักษณะใหญ่คือ SMEs ขนาดย่อม และ SMEs ขนาดกลาง สำหรับผู้ประกอบการ SMEs นั้นมีสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาตั้งแต่ต้นคือ “การเลือกรูปแบบธุรกิจ” เพราะธุรกิจแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการจัดตั้งและข้อบังคับทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ทำให้การเสียภาษีมีความแตกต่างกันไปด้วย โดยสามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
1. เจ้าของคนเดียว คือมีเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียวเท่านั้น
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือมีเจ้าของธุรกิจตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่เป็นหุ้นส่วนกัน โดยที่ทุกคนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับบริษัททั้งหมดร่วมกัน
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก แบบที่หนึ่งคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน รับผิดชอบแค่ส่วนที่ลงทุนของตนเองในห้างหุ้นส่วนนั้น และแบบที่สองคือ ต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหมดไม่มีจำกัดจำนวน
4. บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน
ผู้ประกอบการควรพิจารณารูปแบบของธุรกิจว่าเราอยู่ในรูปแบบไหน เพื่อที่จะได้หาข้อมูลให้สอดคล้องกับการเสียภาษีของธุรกิจ SMEs ที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายไว้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไป
SMEs กับภาษีที่ต้องใส่ใจ
สำหรับเรื่องของบุคคลทั่วไปที่ต้องชำระคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น ซึ่งจะมีข้อกำหนดในข้อกฎหมายชัดเจน แต่ภาษีสำหรับ SMEs จะต้องชำระมีการกำหนดไว้เบื้องต้นให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
“ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการตลอดทั้งปี ไม่เกิน 30,000,000บาท จะได้รับอัตราภาษีพิเศษสำหรับ SME
รายได้น้อยกว่า 300,000 บาท ยกเว้นภาษี
รายได้ตั้งแต่ 300,000 บาท ถึง 3,000,000 บาท เสียภาษี 15%
รายได้ตั้งแต่ 3,000,000 บาทขึ้นไป เสียภาษี 20%”
โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจ SMEs จะต้องเสียภาษีทั้งสองประเภท ประกอบด้วย “ภาษีทางตรง” คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ “ภาษีทางอ้อม” คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เจ้าของธุรกิจ SMEs จะต้องเข้าใจภาษีทั้งสองประเภทนี้ด้วย
การเสียภาษีซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ รวมถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี ปัจจุบันเราจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% โดยทั่วไปผู้ประกอบการจะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้กับผู้บริโภคด้วย
ความสำคัญในการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องภาษี
หากคุณกำลังเตรียมตัวในการมีธุรกิจ SMEs นอกเหนือจากการเตรียมพร้อมในเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณแล้วการเตรียมตัวสำหรับการเสียภาษีก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาไปจนถึงในนามบริษัทก็ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าตัวเองมีรายได้แล้วถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปตอนรับเงิน หมายความว่าตัวเองเสียภาษีตามกฎหมายแล้วจึงไม่ยื่นภาษี ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถือว่าเป็นภาษีสุดท้าย แต่เป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะตอนรับรางวัลลุ้นโชคต่าง ๆ จะคิดว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วจบเลย เว้นแต่ว่าเงินของคุณจะเข้าข่ายได้รับยกเว้นให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย จุดนั้นจะไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ อย่างเงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุนรวม ดอกเบี้ย เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
SMEs โอกาสมากขึ้นด้วยการมีบัญชีเดียว
จากการสนับสนุนของกรมสรรพากรเองที่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีบัญชีเดียวในการยื่นภาษีเงินได้ และเป็นนโยบายจากรัฐบาลที่กำหนดขึ้นมาเพื่อยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs ที่จดแจ้งบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs จะมีหลายบัญชีเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี เรียกง่าย ๆ ว่าลดค่าภาษีที่ต้องจ่าย แต่เมื่อพิจาณาต่อไปจะเป็นการยากกว่าหากเราต้องการกู้ยืมเงินสินเชื่อต่าง ๆ จากธนาคาร เพราะยอดเงินที่กระจายไปในแต่ละบัญชีทำให้การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ยาก ในขณะเดียวกันเรื่องนี้อาจกลายเป็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดความเข้าใจ หากไม่รีบปรับตามกติกาดังกล่าวก็จะทำให้เสียโอกาสในการขอสินเชื่อ รวมทั้งระบบ SMEs บัญชีเดียวยังสามารถนำมาพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้อีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่มีปัญหาหรือไม่เข้าใจด้านภาษีจริง ๆ แนะนำให้สอบถามหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตที่กิจการของเราตั้งอยู่ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและทำให้เราเข้าใจในเรื่องของภาษีอย่างแท้จริงและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องจะเป็นการดีที่สุด
คอมพิวเตอร์ควอนตัมคืออะไร ส่งผลกับโลกของเรายังไง?
250 week ago
มาทำความเข้าใจกับยุค Crowd-based Capitalism
250 week ago
Most read this week
Trending
Comments (3)
Please login หรือ สมัครสมาชิก to join the discussion