ซื้อ-ขายออนไลน์ ● มั่นใจ ● ไม่โกง

ซื้อ-ขายออนไลน์ ● มั่นใจ ● ไม่โกง

การจัดตั้งและลงทะเบียนบริษัท

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

356 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

มีหลายครั้งที่เราจะได้ยินว่าซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของตามที่สั่งหรือมีคุณภาพที่ด้อยกว่าที่โฆษณาไว้หรือของจริงไม่เหมือนกับภาพที่โพสต์ไว้ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือเมื่อลูกค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าหรือบริการไปแล้ว พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นเจ้าของสินค้านั้นกลับเชิดเงินหรือปิดเพจหนีหายไปเลย ไม่สามารถที่จะติดตามตัวได้ เรื่องเหล่านี้ทำให้คนที่ซื้อสินค้าเสียความรู้สึกหรือเข็ดขยาดกับร้านค้าออนไลน์ และอาจจะพาลรู้สึกไม่ไว้ใจไปถึงร้านค้าอื่นๆ ไปด้วยเหมือนสุภาษิตที่ว่า ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง หากเราเองก็ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าการขายบนออนไลน์ก็คงได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวหากเกิดปัญหาแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าเช่นนั้นจะมีวิธีการแก้ปัญหาทำนองนี้ได้อย่างไรบ้างเพื่อที่ว่าธุรกิจค้าขายออนไลน์ของเราจะได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนเดิม

 

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมากระตุ้นให้บรรดาร้านค้าออนไลน์ทั้งหลายให้มาทำการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการยืนยันตัวตนของบรรดาร้านค้าออนไลน์ไม่ว่าจะขายบนเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลดีคือจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อสินค้ามากขึ้น ลดความกังวลในเรื่องการซื้อขายบนโลกออนไลน์ได้ว่าต่อไปหากมีปัญหาดังที่ว่ามาข้างต้น จะสามารถติดตามตัวผู้ประกอบการได้ ในแง่ของผู้ทำธุรกิจด้านออนไลน์เองก็สามารถที่จะทำการค้าขายได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย

 

ข้อดีของการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered)

1. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ามากขึ้นว่าเรามีตัวตนจริงๆ และจะได้รับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อแสดงไว้หน้าเว็บไซต์หรือโฮมเพจได้

2. ทำให้หน้าเว็บไซต์หรือโฮมเพจของเราได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม

3. มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อมีการสืบค้นข้อมูลร้านค้าบนเสิร์ชเอนจิ้นก็จะพบรายชื่อของเราได้รวดเร็วบนเว็บไซต์ของกรมฯ ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนที่ดีระดับหนึ่ง และประโยชน์ทางอ้อมคือจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐและเป็นการขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศได้สะดวกขึ้น

4. สามารถขอเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Verified) ต่อได้อีก ซึ่งเครื่องหมายนี้ต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลจึงจะได้รับ

5.ได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับการพัฒนาตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด เช่น การอบรมสัมมนา การเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า การรับข่าวสารที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง

 

นอกจากเครื่องหมาย DBD Registered แล้วยังควรต้องมีการขอเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Verified) เพิ่มเติมด้วย เพราะเพียงแค่เครื่องหมาย DBD Registered นั้นจะยืนยันเพียงแค่ว่าได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว และอาจได้รับความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งว่ามีตัวตนจริงเท่านั้น ยังไม่ได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือแบบผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce

 

การจะขอเครื่องหมาย DBD Verified ผู้ขอต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 

  1. บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์

  2. มีการจัดส่งงบการเงิน (กรณีเป็นนิติบุคคล)

  3. จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  4. เป็นเจ้าของโดเมนเนม

  5. บนเว็บไซต์มีระบบการสั่งซื้อ ระบบการชำระเงิน วิธีการจัดส่ง ฯลฯ

  6. ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

ทั้งนี้ การจะได้รับเครื่องหมายต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการประเมินเอง 2. ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และ 3. ประเมินโดยคณะกรรมการ

 

จะเห็นได้ว่าการที่จะได้เครื่องหมาย DBD Verified นั้นอาจมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า DBD Registered แต่นั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่แสดงความน่าเชื่อถือและความมีมาตรฐานที่มากกว่า ซึ่งจะมอบความมั่นใจให้กับผู้ซื้อในทันทีที่เห็นเครื่องหมายนี้

 

 

 

 

ซื้อ-ขายออนไลน์ ● มั่นใจ ● ไม่โกง

Comments