SMEs กับโลกออนไลน์…ไม่เข้าใจไม่ได้แล้วนะ

SMEs กับโลกออนไลน์…ไม่เข้าใจไม่ได้แล้วนะ

ดิจิตอลและเทคโนโลยี

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

316 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

อาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า สมัยนี้ถ้าเราอยู่กับที่ก็ถือว่าเราเดินถอยหลังแล้ว นั่นก็เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน เทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนามากขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

 

จากข้อมูลความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันของ SMEs ไทยที่มีการปรับตัวดีขึ้นบ้างเนื่องมาจากปัจจัยหลัก ๆ ก็คือเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นบวกกับนโยบายของภาครัฐ และบางส่วนมาจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรและยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ฯลฯ แต่หลายคนอาจยังรู้สึกขัดแย้งในใจว่ากิจการต่าง ๆ ทำไมยังดูซบเซา ดูเงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน นั่นอาจมาจากการมองเศรษฐกิจในมุมเก่า มองจากความเคยชิน มองเพียงแค่สิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น

 

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมากแล้วจริง ๆ สื่อดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ปี 2561 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน นับว่าเป็นการเปลี่ยนเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลที่มากขึ้นของคนไทย

 

ดังนั้น การจะทำธุรกิจแบบเดิม ๆ คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันตัวเองให้ได้เข้าไปสู่โลกของดิจิทัล สังเกตได้ว่าการค้าขายออนไลน์ในปัจจุบันทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ กลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุน้อย ๆ กันมากมายหลายคน ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจมานานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับยุคสมัย เรียกว่าต้องรีบกำจัดจุดอ่อนให้เร็วที่สุด จึงยังไม่สายเกินไปที่จะทำความเข้าใจและอัปเดตตัวเองในเรื่องของดิจิทัลและเทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

ผู้ประกอบการ SMEs จึงต้องหาโอกาสทำความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในยุค 4.0 โดยเฉพาะต้องรู้จักในเรื่องของ Digital Ecosystem ซึ่งมีอยู่ 4 ด้านที่สำคัญคือ

 

  1. Channel ช่องทางการขายที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เป็นการขายหน้าร้านหรือออฟไลน์ก็เกิดช่องทางใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นแบบออนไลน์หรือการขายแบบ E-commerce และยังเป็นช่องทางที่ทำหน้าที่ได้หลายฟังก์ชัน เช่น เป็นช่องทางการขาย หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตน
  2. Payment ช่องทางการจ่ายเงิน ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนแล้วอาจจะมีเพียงแค่การโอนเงินหรือจ่ายเงินสดที่หน้าร้านเท่านั้น แต่ตอนนี้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้ง่ายและหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น QR code หรือบัตรเครดิต หรือการมีแคมเปญแบบผ่อน 0% ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าใช้จ่ายเงินได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
  3. Management การบริหารจัดการรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยอาศัยเครื่องมือที่มีอยู่บนออนไลน์ที่มีหลากหลายแบบซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากกว่าออฟไลน์ ทำให้เราสามารถปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยไม่สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์
  4. Logistic ระบบการขนส่งที่มีมากขึ้น มีหลายแพลตฟอร์มที่ให้บริการ เปิดโอกาสให้เราได้เลือกใช้ระบบขนส่งที่ประหยัดต้นทุนที่สุด และสามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งผู้รับและผู้ส่ง เพื่อป้องกันความเสียหายหรือความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง

 

ระบบนิเวศทั้ง 4 ด้านนี้มีการพัฒนามากขึ้นกว่าก่อนมากและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอีก ดังนั้น ในฐานะที่เราผู้ประกอบการต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาธุรกิจเราเองและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าผู้บริโภคมีความสะดวกสบายมากเท่าไร การตัดสินใจซื้อก็จะง่ายและเร็วมากขึ้นเท่านั้น

 

Comments