330 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที
“ความเครียด” มิได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย แต่คืออาการที่ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความเครียดสูงกว่าวัยอื่น ๆ จากความกดดันในหน้าที่ความรับผิดชอบ จากปัญหาสุขภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการย้ายสถานที่ทำงานหรือสังคมเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
เนื่องด้วยคนวัยทำงานมักมีพฤติกรรมในการทำงานที่มักทำติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะความเครียด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ โดยจะแสดงออกมาเป็นอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อาทิ โรคไมเกรน ปวดศีรษะ โรคปวดหลัง หอบหืด ภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็ง ฯลฯ
ภาวะความเครียดจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1. ความเครียดระดับต่ำ มีความเครียดในระดับที่ไม่รุนแรง เป็นภาวะปกติที่พบได้ในชีวิตประจําวันของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจไม่รู้สึกว่าเป็นความเครียด เพราะความเคยชิน ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมไม่แสดงผลออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนนัก
2. ความเครียดระดับปานกลาง เมื่อมีความเครียดจะแสดงออกให้เห็นได้ทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และการดําเนินชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายมีความเครียดมากผิดปกติ และอาจส่งผลร้ายต่อร่างกายและการดำเนินชีวิจประจำวัน แต่สามารถจัดการกับความเครียดนี้ได้ โดยการทำกิจกรรมคลายเครียดที่ชื่นชอบ
3. ความเครียดระดับรุนแรง มักเป็นอาการที่เกิดจากภาวะความเครียดสะสมและเรื้อรัง หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวและรับมือกับความเครียดได้ จะส่งผลต่อร่างกายให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งความเครียดระดับนี้ต้องการความช่วยเหลือและรักษาจากเพื่อนและแพทย์ ในการช่วยรับฟังและให้คำแนะนำเพื่อบรรเทาอาการความเครียดนี้ แม้จะไม่สามารถขจัดความเครียดออกไปได้หมดในคราวเดียวก็ตาม
คนวัยทำงานส่วนใหญ่ มักคร่ำเคร่งอยู่กับงานที่ได้รับมอบหมายตรงหน้า จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะความเครียด ซึ่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เราจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือยืดเส้นยืดสาย เพื่อคลายความเครียดเหล่านี้ลง
มาดูกันว่าท่ายืดเส้นคลายกล้ามเนื้อง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่โต๊ะทำงานนั้นมีท่าใดบ้าง
ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อข้อมือ แขน และกล้ามเนื้อร่างกายส่วนบน
ประสานมือเข้าด้วยกัน หันฝ่ามือด้านในออก และยืดแขนออกไปข้างหน้า ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นยืดแขนขึ้นเหนือศีรษะ และหายใจเข้าลึก ๆ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วผ่อนลมหายใจออก
ท่าที่ 2 ยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้างและไหล่
วางฝ่ามือซ้ายบนศีรษะ และเอียงคอไปทางซ้ายจนเกิดแรงตึงที่ลำคอและไหล่ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วคลายออก สลับข้าง วางมือขวาบนศีรษะ และเอียงคอไปทางขวาจนเกิดแรงตึง ค้างไว้ 10 วินาที แล้วคลายออก
ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อคอด้านหลัง
ประสานฝ่ามือวางไว้ด้านหลังของศีรษะ กดฝ่ามือลงจนเกิดแรงตึง ค้างไว้ 10 วินาที และทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
ท่าที่ 4 ยืดกล้ามเนื้อข้างลำตัว
ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ งอแขนลงมาแตะที่ไหล่ขวา ใช้มือขวาดึงข้อศอกด้านซ้ายมาทางด้านหลังศีรษะจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับทำเช่นเดียวกันกับแขนข้างขวา โดยทำข้างละ 3 ครั้ง
ท่าที่ 5 ยืดกล้ามเนื้อแขนและหลังส่วนบน
ยืดแขนด้านซ้ายมาทางด้านขวา ใช้มือขวากุมข้อศอกด้านซ้ายดึงเข้าหาลำตัว จนรู้สึกตึง ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับทำเช่นเดียวกันกับแขนข้าวขวา โดยทำข้างละ 3 ครั้ง
ท่าที่ 6 ยืดกล้ามเนื้อ หลัง เอว และสะโพก
นั่งลงบนเก้าอี้ให้เต็มก้น ยกขาไขว่ห้างซ้ายทับขวา แล้วบิดตัวไปทางซ้ายอย่างช้า ๆ มือซ้ายจับที่พนักเก้าอี้ และมือขวาจับที่เท้าแขน ล็อคพนักพิงไว้ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วบิดตัวคืนกลับมา
สลับขาไขว่ห้างขวาทับซ้าย บิดลําตัวไปทางขวา พร้อมสลับมือจับที่พนักเก้าอี้และเท้าแขน แล้วล็อคพนักพิงค้างไว้ นับ 10 วินาทีแล้วคลายออก
ท่าที่ 7 ยืดกล้ามเนื้อขาส่วนล่าง และต้นขา
เหยียดขาให้สุด จากนั้นก้มแตะปลายเท้า ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วคลายออก กลับมานั่งท่าปกติ จากนั้นก้มลงโดยไม่ต้องเหยียดขา เอื้อมจับขาเก้าอี้พร้อมก้มหัวลง ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วคลายออก
เพียงท่ายืดเส้นสาย ในเวลาเวลาไม่ถึง 5 นาที ก็สามารถช่วยบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อไปได้ ซึ่งสามารถทำได้ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ทั้งยังห่างไกลจากความเครียดเรื้อรัง อันนำไปสู่โรคภัยต่าง ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เราสามารถเลือกทำท่ายืดเส้นสายเฉพาะบริเวณที่ปวดเมื่อยได้ และควรหมั่นลุกออกจากที่นั่งและเดินผ่อนคลายไปรอบ ๆ บ้าง เพราะนอกจากจะเป็นการยืดเส้นสายแล้ว ยังถือเป็นการพักสายตาไปด้วยพร้อมกัน ทั้งนี้ ทุกคนควรมีวิธีการรับมือกับความเครียด เพื่อปรับสมดุลให้กับร่างกาย และการมีสุขภาพที่ดี
คอมพิวเตอร์ควอนตัมคืออะไร ส่งผลกับโลกของเรายังไง?
249 week ago
มาทำความเข้าใจกับยุค Crowd-based Capitalism
249 week ago
Most read this week
Trending
Comments
Please login หรือ สมัครสมาชิก to join the discussion