เคล็ดไม่ลับ...รับมือความเครียด

เคล็ดไม่ลับ...รับมือความเครียด

สุขภาพและไลฟ์สไตล์

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

324 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

ด้วยสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเครียดนั้นให้ได้ หากเราไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับความเครียดเหล่านี้ได้ ความเครียดเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมการแสดงออก และหากมีความเครียดเรื้อรัง ก็จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ และเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นด้วย

‘ความเครียด’ จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน โดยความเครียดจะส่งสัญญาณผ่านสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และความคิด ความรู้สึกแปรปรวน ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ขี้หลง ขี้ลืม มองโลกในแง่ร้าย และด้านพฤติกรรมความรุนแรง รวมไปถึงการทานอาหารในปริมาณที่น้อยลงด้วย

โดยพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความเครียดนั้น อาจมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะความกดดันต่าง ๆ รวมไปถึงสภาวะด้านอารมณ์ต่าง ๆ หรือแม้แต่พฤติกรรมบางอย่างที่เข้าใจว่าเป็นการผ่อนคลาย แต่กลับเป็นสิ่งที่สร้างความเครียดขึ้นมาแทนโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพฤติกรรมที่เราเข้าใจว่าเป็นการคลายเครียด แต่กลับสร้างความเครียดให้แก่เราแทนนั้น คือ

 

การเสพสื่อข่าวสารต่าง ๆ มากเกินไป

ด้วยเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตคนเรามากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงข่าวสารจากโลกออนไลน์ได้โดยง่าย และมีส่วนร่วมกับข่าวสารต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย มิใช่เพียงแค่นั้น ยังรวมไปถึงการดูละครหรือภาพยนตร์ ก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน

แม้ว่าการเล่นอินเตอร์เน็ต การดูละครหรือภาพยนตร์ จะเปรียบเสมือนการผ่อนคลายความเครียด แต่หากใช้งานมากเกินไป จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การเสพติด’ พฤติกรรมนี้ก็จะส่งผลต่อความเครียดได้เช่นกัน

 

ไม่หยุดพักการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

การใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์นั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนประสบกับความเครียดโดยไม่รู้ตัว

สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) เผยผลวิจัยว่าผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เป็นประจำ เพื่อเช็คข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์ หรืออีเมล มีระดับความเครียดอยู่ที่ 6/10 ขณะที่ผู้ติดโซเชียลทั่วไปมีระดับความเครียดอยู่ที่ 5.3/10 และผู้ที่ใช้งานโซเชียลทั่วไป มีระดับความเครียดอยู่ที่ 4.4/10

นอกจากนี้ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่หยุดพักจะทำให้เกิดความเครียดได้แล้วนั้น ยังทำให้ขาดความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย

 

การสูบบุหรี่

หากเคยได้ยินว่า การสูบบุหรี่สามารถช่วยคลายเครียดได้ อาจไม่เป็นจริงเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ มีฤทธิ์ก่อกวนการทำงานของความเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้สูบบุหรี่ แต่เมื่อร่างการขาดสารนิโคติน จึงทำให้เกิดความเครียดมากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสูบบุหรี่ไม่สามารถเลิกได้

 

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถระบายความเครียดได้เป็นอย่างดี แต่สามารถช่วยได้ในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเราได้สติหลังจากความมึนเมาก่อนหน้านี้ ความเครียดหรือสิ่งที่เรากังวลก็จะกลับมาอีกครั้ง และหากดื่มมากจนกลายเป็นการเสพติด นอกจากปัญหาความเครียดแล้ว อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในส่วนอื่น ๆ ด้วย

 

การทานยาบางประเภท

ยาบางประเภทก็สามารถส่งผลต่อความเครียดได้เช่นกัน ซึ่งยาที่พบบ่อยมักเป็นยาคุมกำเนิด ยารักษาสิว ยานอนหลับ เพราะมีฤทธิ์ต่อฮอร์โมนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่เครียดง่ายหรือมีความเครียดอยู่ก่อนแล้ว ยาเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ความเครียดทำงานหนักขึ้น

 

ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ อีกที่สามารถสร้างความเครียดให้เราโดยไม่รู้ตัว เราจึงควรมีวิธีการรับมือกับความเครียดเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งวิธีการนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ รวมไปถึงการทานน้ำหวาน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอแล้วนั้น มีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถช่วยคลายความเครียดลงได้ คือ

 

ทานดาร์กช็อกโกแลต

มีหลายวิจัยได้พูดถึงการทางอาหารที่มีรสชาติหวาน สามารถช่วยลดความเครียดลง และทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ แต่หากทานมากไป จะกลายเป็นส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ลองเปลี่ยนจากการทานช็อกโกแลตหวาน ๆ มาเป็นดาร์กช็อกโกแลตกันดูไหม ทานเพียง 1.4 ออนซ์ (ประมาณ 40 กรัม) เป็นประจำทุกวัน ก็สามารถลดความเครียดลงได้ เพราะสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่อยู่ในดาร์กช็อกโกแลต จะช่วยพัฒนาอารมณ์และความคิดให้ดีขึ้น

 

หาเพื่อนพูดคุย

หลายครั้งที่เรามักจะระบายความทุกข์ให้เพื่อน ๆ หรือคนรอบข้างฟัง เพราะการที่เราได้เล่าเรื่องที่กำลังเครียดหรือไม่สบายใจอยู่ ถือเป็นกระระบายความเครียดได้อีกทางหนึ่ง และอาจจัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ หรือหากเป็นเรื่องที่ไม่สามารถระบายออกมาให้ใครฟังได้ อาจใช้วิธีการเขียนบันทึกไดอารี่แทน และตกแต่งสักหน่อย รับรองว่าความเครียดจะหายไปแน่นอน

 

เปิดเพลงฟังดัง ๆ

ในบางสถานการณ์ การเปิดเพลงฟังดัง ๆ ก็ช่วยลดความเครียดได้เช่นกันนะ ยิ่งเป็นเพลงที่เราโปรดปราน พร้อมโยกตัวไปตามจังหวะเพลงที่ได้ฟังแล้วล่ะก็ เรายิ่งรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

หากอยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถเปิดเพลงฟังดัง ๆ ได้ อาจใช้วิธีการใส่หูฟังแทน ฮัมเพลงเบา ๆ ก็สามารถช่วยคลายเครียดได้เช่นกัน

 

สูดดมกลิ่นหอมต่าง ๆ

กลิ่นต่าง ๆ มีผลต่อสมองในส่วนที่ควบคุมความรู้สึกโดยตรง การสูดดมกลิ่นต่าง ๆ จึงสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดลงได้ ซึ่งอาจเป็นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นชาต่าง ๆ รวมไปถึงกลิ่นกาแฟด้วย

 

พูดกับตัวเอง

การพูดกับตัวเอง อาจเป็นวิธีที่ดูแปลกไปสักหน่อย แต่คาดว่าเป็นวิธีที่นิยมเป็นอย่างมาก มีคนจำนวนไม่น้อยที่พูดคุยกับตัวเองด้วยเหตุผลนานัปการ อาจเป็นการเตือนสติ เตือนความจำ ปลอบใจตัวเอง ฯลฯ ซึ่งการพูดคุยกับตัวเอง อาจช่วยให้เราหาคำตอบหรือสาเหตุของความเครียดได้ และเมื่อเรารู้ว่าความเครียดนั้นคืออะไร เราก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเครียดนั้นลงได้เช่นกัน

 

คนเราไม่อาจหลีกหนีความเครียดได้ เราจึงต้องเผชิญหน้าและรับมือความเครียดให้ได้ ก่อนที่ความเครียดเหล่านั้นจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว หากไม่อยากโดนทำร้ายโดยความเครียด อย่าลืมลองหาวิธีระบายความเครียดกันนะคะ

 

Comments