เศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจ

เศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจ

ไอเดียและนวัตกรรม

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

371 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

“การลงทุน ย่อมมีความเสี่ยง” นักธุรกิจทุกคนต่างรู้จักคำพูดนี้ดี แต่ถ้าไม่กล้าที่จะลองเสี่ยงแล้วจะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้อย่างไร...จริงไหม?

 

ทุกธุรกิจย่อมต้องมีการลงทุนและมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจต่างต้องยอมรับเรื่องนี้ให้ได้ ทางออกที่หลายคนพูดถึงกันมากคือการดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียง... เอาแล้วสิ หลายคนคงสงสัยใช่ไหมว่า ดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงเป็นอย่างไร แล้วมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงนี้

 

ดำเนินธุรกิจอย่าง ‘พอเพียง’ คืออะไร

ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงคำว่า ‘พอเพียง’ กันเสียก่อน ‘พอเพียง’ เป็นคำเรียกย่อๆ ของคำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเพื่อชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ปวงชนชาวไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ด้วยพื้นฐานของทางสายกลาง โดยยึดหลักการง่ายๆ คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข จวบจนถึงวันนี้ประชาชนชาวไทยต่างพูดถึง ศึกษา และปฏิบัติตาม ทุกคนต่างน้อมนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อมั่นและเจริญรอยตามพระราชปณิธานของพ่อหลวง

 

จากทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง สู่แนวทางในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่จะช่วยให้ธุรกิจลดความเสี่ยงในการลงทุน นั่นก็คือต้องรู้จักดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียง เพราะหากธุรกิจใดลงทุนหรือดำเนินธุรกิจโดยไม่ระมัดระวัง ไม่รู้จักวางแผน และไม่มีความพอเพียง อาจทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงที่จะติดลบหรือล้มได้ในที่สุด ซึ่งการดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงนั้น สามารถทำได้โดยยึดตามแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้…

 

แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งเน้นให้ผู้ผลิตรู้จักหลักการ 3 อย่างคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ประกอบกับเงื่อนไข 2 ประการคือการใช้ความรู้ และการมีคุณธรรม โดยต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น (ย้ำ!) ในที่นี้จะขออธิบายเริ่มจาก…

 

  • ธุรกิจต้องมีความพอประมาณ

ความพอประมาณ คือความพอดีต่อความจำเป็นที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนเกินไป เช่น ลงทุนแบบพอประมาณพอเหมาะตามความจำเป็นและภายใต้ความเป็นไปได้ ไม่ใช่มีเงินเท่าไหร่ก็ทุ่มหมด เพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องประสบภาวะเสี่ยง การผลิตในจำนวนพอประมาณจะได้ไม่มีสินค้าเหลือ เสียของเสียเงินลงทุนไปฟรีๆ ผลิตตามกำลังศักยภาพขององค์กรเพื่อไม่ให้เกินกำลังจนเกิดความเสี่ยง

 

  • ธุรกิจต้องมีเหตุผล

ความมีเหตุผล คือการตัดสินใจที่ต้องเป็นไปตามความถูกต้องและมีเหตุผลประกอบพิจารณานั้นได้ด้วย ตลอดจนคำนึงถึงผลที่ตามมาอย่างรอบคอบ เช่น เมื่อเราต้องการจะลงทุนเพิ่ม เราต้องหาเหตุผลให้ได้ก่อนว่าลงทุนเพิ่มไปทำไม แล้วได้อะไรกลับมา อย่างการลงทุนขยายร้านเพราะเห็นว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นถ้าหากพื้นที่น้อยแต่ลูกค้าเยอะจึงต้องมารอคิวเป็นแบบนี้ไปนานๆ เข้าเราอาจเสียลูกค้าเหล่านี้ไป หรือลงทุนค่าโฆษณาในการจ้างบล็อคเกอร์รีวิวเพื่อที่สามารถทำให้ลูกค้ารู้จักและมาซื้อของร้านเรามากขึ้นนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็อย่าลืมว่าเอาแค่พอประมาณพอนะจ๊ะ

 

  • ธุรกิจต้องมีภูมิคุ้มกัน

ภูมิคุ้มกัน คือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยการทำความเข้าใจกับธุรกิจของตนเองให้ละเอียด เหมือนกับประโยคที่ว่า รู้จักตนเอง รู้จักลูกค้า รู้จักตลาด และรู้จักคู่แข่ง อีกทั้งหมั่นติดตามข่าวสาร แล้วจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีและมีเหตุผลทำให้ผลลัพธ์ออกมาดี ไม่เกิดปัญหาใดๆ แก่ธุรกิจ ซึ่งนี่แหละเรียกว่าการเตรียมพร้อมหรือธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันดีนั่นเอง

 

นอกจากการดำเนินธุรกิจอยู่บนฐานความพอเพียงแล้วยังควรต้องมี 2 เงื่อนไขต่อไปนี้ที่นักธุรกิจขาดไม่ได้อีกเช่นกัน ได้แก่ ความรู้ และ คุณธรรม

 

โดย ความรู้ คือความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจจะต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอเพื่อให้ธุรกิจเกิดความก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

 

ส่วนทางด้าน คุณธรรม คือการยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ดังนั้น นักธุรกิจเองจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่เอาเปรียบลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะช่วยเหลือสังคมอย่างการทำ CSR ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันมีธุรกิจมากมายหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และยังสามารถส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจ ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจในธุรกิจนั่นเอง

 

หากธุรกิจดำเนินตามเศรษฐกิจพอเพียง เกิดความพอเพียงในธุรกิจนั้น สุดท้ายแล้วธุรกิจนั้นจักย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในที่สุด

 

เศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจ

Comments