เช็คความพร้อมก่อนนำธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล

เช็คความพร้อมก่อนนำธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ดิจิตอลและเทคโนโลยี

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

300 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

ยุคนี้จะให้หนีการทำธุรกิจแบบดิจิทัลคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะยิ่งต่อต้านระบบออนไลน์หรือระบบดิจิทัลเราก็เห็นว่าบางธุรกิจนั้นไปไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจแบบ B2B, B2C หรือ C2C ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเป็นสื่อกลางให้การทำธุรกิจง่ายและเร็วขึ้น เราอาจจะเห็นว่าบางธุรกิจที่ตายไปจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น ร้านเช่า/ขายซีดีเพลงที่ปิดตัวไปหลายแห่ง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคนิยมดูหนังหรือฟังเพลงออนไลน์มากขึ้นและสามารถดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องแบกซีดีให้หนัก หรือแม้แต่การสั่งซื้อ e-book เพื่ออ่านในแท๊ปเลตโดยไม่ต้องแบกหนังสือเล่มให้หนักอีกต่อไป ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล นอกจากต้องปรับตัวให้ธุรกิจอยู่รอดแล้วยังต้องแข่งกับองค์กรขนาดเล็กที่มีความได้เปรียบการจากใช้เทคโนโลยีเป็นตัวหลักในการทำธุรกิจและเป็นตัวกลางเข้าถึงลูกค้าอีกด้วย

 

จากข้อมูลในเว็บไซด์ของ Salika.com บอกไว้ว่าทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นทวีปที่มาการตื่นตัวของการทำธุรกิจดิจิทัลเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำให้ประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียมีการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้านดิจิทัลได้เร็วกว่าทวีปอื่น และนอกจากนี้งานด้านดิจิทัลก็ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง จึงทำให้คนรุ่นใหม่เร่งผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวเข้าหาดิจิทัลอย่างเร็วที่สุด โดยธุรกิจต่างๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็เพื่อครองใจลูกค้าและทำให้เกิด Brand Loyalty ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอาหาร เป็นต้น ทุกธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของงานและกลุ่มเป้าหมาย และธุรกิจที่สามารถครองใจลูกค้าได้คือธุรกิจที่สามารถมี One Stop Service เพราะทำให้ลูกค้าไม่ต้องหาบริการหรือสินค้าจากที่อื่นมาเสริมความต้องการของตัวเองให้รู้สึกลำบาก

 

นอกจากการปรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกิจเพื่อดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาองค์กรได้อีกด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนในองค์กรที่ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงานน้อยลงและมีการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และในหลายบริษัทได้เริ่มนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาทำงานแทนเพื่อประหยัดทรัพยากรแรงงาน การลงทุนสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานในองค์กรได้ใช้ สร้างความสะดวกสบาย และตัดความซับซ้อนในการทำงานลง ทำให้องค์กรมีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และทำให้ให้สินค้าหรือบริการมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย

 

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญในการปรับธุรกิจให้เข้ากับยุคดิจิทัลคือการให้ความสำคัญกับลูกค้า เพราะนอกจากการสร้างความภักดีของแบรนด์แล้ว ต้องมีการทำ Big Data ด้วยเพื่อเป็นการเก็บข้อมูลูกค้าให้ได้มากที่สุดและนำมาวิเคราะห์แผนการตลาดต่อได้ง่ายขึ้น Big Data ในยุคดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม ฉะนั้นสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อเอาใจลูกค้าหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในองค์กรก็เป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อปรับตัวให้ทันธุรกิจอยู่รอดยุคดิจิทัลได้

 

☑ลองเช็คความพร้อมก่อนนำธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมแค่ไหนลองสำรวจตัวเองดู

 

☐  ปรับเปลี่ยนในเชิง Business Model แล้วหรือยัง อย่างในวันที่สินค้าจีนบุกเข้ามา พวกธุรกิจนำเข้าจากจีนคงต้องหยุดลงและจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน Business Model ใหม่ ถึงเวลาต้องปรับตัวหรือยังวิธีเช็คง่ายๆ คือหากมีสินค้าซ้ำกับที่ขายและถูกกว่าหรือหากเราไม่ใช่คนที่ควบคุมทุกอย่างได้ก็รีบ Transform ตัวเองเสียก่อนเลย ต้องปรับวิธีคิดใหม่ เช่น หาวิธีว่าเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นต้นทาง จากที่นำเข้าเปลี่ยนไปเป็นส่งออกหรือหาสินค้าที่ได้เปรียบมากกว่า เช่น การแปรรูปผลไม้ไทยโดยเอา Innovation เข้ามาใช้สร้างสินค้าใหม่แล้วส่งออกไป หรือร่วมมือกับคนที่มีสินค้าแต่ไม่เก่งเรื่องส่งออกช่วยกันส่งออกไปต่างประเทศ นี่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนวิธีคิดนั่นเอง

 

☐  ปรับเปลี่ยนในเชิงวิสัยทัศน์แล้วหรือไม่ ข้อนี้สำคัญมากที่สุด เปลี่ยนมุมมองจากที่เคยเปิดกันแต่หน้าร้านก็เปลี่ยนมาเป็นออนไลน์ ศึกษาการขายออนไลน์ ลองมาซื้อขายออนไลน์จะได้เข้าใจมากขึ้น ต้องสร้างทีมดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ไม่ควรทำเองในทุกๆ อย่าง ผู้บริหารต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องออนไลน์ให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย

 

☐  ปรับเปลี่ยนในเชิง Operation เริ่มแล้วหรือยัง ต้องเอา Innovation มาใช้ในองค์กร เช่น ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ หรือเอาเรื่องไอทีเข้ามาใช้ในขั้นตอนการทำงาน ทุกคนในองค์กรต้องใช้ Innovation อย่างจริงจัง สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

Comments