SMEs กับโอกาสดี ๆ จาก U-commerce

SMEs กับโอกาสดี ๆ จาก U-commerce

ไอเดียและนวัตกรรม

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

287 week ago — ใช้เวลาอ่าน 3 นาที

บางครั้งการทำธุรกิจเล็ก ๆ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์โดยที่ต้องทำทุกหน้าที่เพียงคนเดียวหรือทีมงานเพียงไม่กี่คนก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และยิ่งในตลาดเองก็ยังมีคู่แข่งอยู่อีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างไม่อ่อนด้อยกว่า หลาย ๆ เรื่องจึงต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งบางทีก็หายากและไม่ตรงกับที่ต้องการสักเท่าใดนัก (กูเกิลอาจไม่ใช่วิธีที่รวดเร็วมากพอ)

 

โดยเฉพาะเรื่องการทำอีคอมเมิร์สสำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีส่วนประกอบในหลายอย่าง หากต้องการที่จะสร้างระบบนิเวศเองไม่ว่าจะเป็นระบบรับชำระเงิน ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบขนส่ง ฯลฯ เป็นของตนเองทั้งหมดเลยนั้นดูจะเป็นเรื่องไกลตัวมาก และยิ่งมองไปถึงการส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศต่อไปด้วย เป้าหมายยิ่งดูจะไกลออกไปมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากเรื่องเงินทุนแล้วเรื่องของบุคลากรและการจัดการก็เป็นปัญหาเช่นกัน ช่องทางการขายออนไลน์ที่ SMEs ไทยนิยมใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ช่องทางคือ เว็บไซต์ของตัวเอง มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลมีเดีย ซึ่งการนำสินค้าไปโพสต์ขายในทั้ง 3 ช่องทางพร้อม ๆ กันก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการทีละอย่าง ๆ

 

การจัดการใจเรื่องดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนที่ดูแลและรับผิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง และควรต้องมีความรู้เรื่องของอีคอมเมิร์สในระดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่แต่เพียงโพสต์ขายสินค้าเป็นเพียงอย่างเดียว ควรมีทักษะในการวางแผนทางการตลาด การวางแผนสร้างแคมเปญต่าง ๆ การโฆษณา การจัดการเรื่องสต็อกสินค้า การขนส่ง และอีกหลายเรื่อง ปัญหาทั้งหมดที่ว่ามาเรียกว่าเป็น pain point ของคนที่ทำธุรกิจระดับ SMEs อย่างเรา ๆ

 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อยในเรื่องของ U-Commerce หรือ Universal Commerce เกิดขึ้นในประเทศไทยโดย Tarad.com ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงหน้าร้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เป็นรูปแบบการบริหารอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร เจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของร้านค้าที่มีเว็บไซต์ของตัวเองสามารถนำสินค้าไปขายบนมาร์เก็ตเพลสที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ เช่น Shopee และ Lazada ได้แล้วจากแพลตฟอร์มเดียว และกำลังขยายช่องทางการขายบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการขายในช่องทางของ LINE ในลำดับต่อไป

 

ทั้งนี้จะมีโซลูชั่นที่จำเป็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบรับชำระเงิน การสต๊อกสินค้า การขนส่งสินค้า การโฆษณา ฯลฯ ไว้รองรับเรียกว่าครบทั้งระบบนิเวศ และยังมีแผนในเรื่องของการนำเข้าและส่งออกต่างประเทศอีกในอนาคต ซึ่งแนวคิด U-Commerce นี้เป็นบริการที่ฟรี แต่อาจมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมบ้างในส่วนของบริการเสริมที่ผู้ค้าต้องการ

 

ความน่าสนใจของแนวคิดนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือช่องทางการขายสินค้าที่มีมากขึ้นเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายให้มากขึ้นตามไปเช่นกัน ลดความยุ่งยากในการจัดการเพราะสามารถดูแลทุกช่องทางได้จากแพลตฟอร์มเดียวกันจึงง่ายและรวดเร็วขึ้น ลดปัญหาในเรื่องของเวลาและบุคลากร ทำให้ธุรกิจเล็ก ๆ สามารถมีระบบนิเวศในการขายสินค้าเป็นของตัวเองได้ สร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น ส่วนของแถมที่จะได้มาด้วยก็คือการมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง

 

Comments