Deep Tech และ “อนาคตล่องหน” แห่งมวลมนุษยชาติ

Deep Tech และ “อนาคตล่องหน” แห่งมวลมนุษยชาติ

ดิจิตอลและเทคโนโลยี

Digital Ventures Technology

Digital Ventures Technology

333 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

จากงาน Techsauce Global Summit 2018 ที่ผ่านมา ในหัวข้อเสวนาเรื่อง “Is Today’s Deep Tech Tomorrow’s Fintech?” บนเวที Fintech คุณพอล พลภัทร อัครปรีดี – Managing Director, Corporate Venture Capital จาก Digital Ventures ได้ยกคำพูดของ Swati Chaturvedi นักข่าวชาวอินเดียเกี่ยวกับอนาคตของโลกธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุยของหัวข้อนี้ที่ดึงความสนใจคนฟังได้มาก

 

“บริษัทที่สร้างขึ้นจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรมที่มีความหมาย จะเป็นบริษัทที่พลิกโฉม เปิดหน้าใหม่ให้กับประวัติศาสตร์โลกในอีกสิบปีข้างหน้า”- Swati Chaturvedi

 

“การจะอยู่รอดในอนาคตขึ้นอยู่กับการก้าวไปข้างหน้ากับเทคโนโลยี” คุณพอลกล่าวเสริม “ไม่ใช่การพลิกโฉมองค์กร หรือกระบวนการใดๆ”

 

 

แล้วการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่เราจะได้เห็นกับกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง Deep Tech ในแวดวงการเงินบ้าง? คุณพอลแง้มให้เราเห็นถึง “อนาคตล่องหน” ของชีวิตที่ไม่ผูกติดกับสิ่งที่จับต้องได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเงิน (Invisible Commerce) การธนาคาร (Invisible Banking) หรือแม้แต่ทรัพย์สินต่างๆ (Invisible Assets)

 

การเงินล่องหน (Invisible Commerce)

“เหมือนเดิมนะคะ” เสียงหนึ่งกล่าว ก่อนที่คุณจะได้รับกาแฟเมนูโปรดที่ชงในแบบที่ถูกใจคุณ ถ้าเป็นตอนนี้ คุณคงคิดว่านี่คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในร้านกาแฟขาประจำที่ใส่ใจลูกค้า แต่ในอนาคตอันใกล้ เสียงนั้นอาจมาจาก AI ที่รู้ว่าคุณกำลังเดินเข้ามาถึงร้านด้วยการระบุที่อยู่ผ่าน Geolocation จดจำใบหน้าและเมนูโปรดของคุณด้วยระบบ Facial Recognition และ Big Data คุยกับคุณด้วยบทสนทนาที่ไหลลื่นจากการประมวลผลแบบ Natural Language Processing (NLP) และหักเงินจากบัญชีด้วย Cashless Transaction ทันทีที่คุณได้รับกาแฟ

 

“นัยยะของอนาคตที่มี Deep Tech อยู่ในระบบการเงิน ไม่ได้หมายถึงการมุ่งสู่การเป็น Cashless Society เพียงเท่านั้น” คุณพอลกล่าว “แต่ยังหมายถึงการผลิตและการให้บริการที่เป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalisation) จากเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Biometrics, Digital Identity, Geolocation, Facial Recognition, AI และ Machine Learning ที่จะผนวกรวมกัน เพื่อเก็บ วิเคราะห์และสร้างโปรไฟล์อินไซต์ลูกค้าเป็นรายบุคคล เพื่อนำเสนอสินค้า บริการหรือแม้แต่สื่อโฆษณาที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น”

 

การธนาคารล่องหน (Invisible Banking)

แม้เราจะเริ่มเห็นเทรนด์ Automation ในไทย เช่น SCB Express ต้นแบบศูนย์บริการลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เอง แต่เมื่อพูดถึงการให้คำปรึกษาด้านการเงินและธุรกิจ หรือแม้แต่การทำธุรกรรม เราก็ยังคงต้องอาศัยพนักงานและพื้นที่ของธนาคารอยู่ แต่ในอนาคตที่คุณพอลมองเห็น สิ่งเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีต

 

“อนาคตคือ การทำธุรกรรมธนาคารที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ (Banking anywhere, anytime)” คุณพอลกล่าวสรุป “หากเราสามารถรวมเทคโนโลยี AR/VR เข้ากับการยืนยันตัวตน (Authentication) รวมไปถึง AI และ Big Data ต่อไปอาจไม่มีความจำเป็นในการไปที่สาขาธนาคารจริง”

 

คุณพอลจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใน “ธนาคารล่องหน” ว่า “เมื่อลูกค้าสวม VR Headset ตัวเครื่องจะทำการยืนยันตัวตนผ่านระบบ และนำเข้าสู่ธนาคารเสมือนจริง โดยมี AI ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินการลงทุน ที่เข้าใจชีวิตในทุกด้านของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ที่ตรงกับโอกาสและไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากที่สุด”

 

 

ทรัพย์สินล่องหน (Invisible Assets)

“ในอนาคต บ้านจะกลายเป็นเหรียญที่เราจับต้องไม่ได้” คำกล่าวที่ฟังดูตลกนี้ไม่เกินจริงเลย กับเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังเป็นที่คุ้นเคยกันในกลุ่มนักลงทุนในขณะนี้ โดยแม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ทั้งตัวเทคโนโลยี Blockchain สกุลเงิน Cryptocurrency ต่างๆ และระบบการ Tokenization กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาปฎิวัติวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายๆ วงการ

 

“ตลาดทุนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Blockchain จะสามารถสร้างประสิทธิภาพ และความโปร่งใสได้ตลอดต่อเนื่องทั้งระบบ” คุณพอลกล่าว “โดยการแปลงทรัพย์สินเป็นโทเคน (Tokenization) จะทำให้เราสามารถใช้ Cryptocurrencies ต่างๆ สร้างสภาพคล่องในตลาด Blockchain ได้”

 

“นอกจากนี้ ICO (Initial Coin Offering) ยังเป็นสิ่งที่กำลังปฎิวัติวงการตลาดทุนแบบเดิม และการเงินองค์กร (Corporate Finance) ด้วยการเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ของทั้งสำหรับนักลงทุน และผู้ที่ต้องการระดมทุนรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพอีกด้วย”

 

 

อนาคตล่องหนแห่งมวลมนุษยชาติ (The Future of the Invisibles)

ก่อนจบการทอล์ค คุณพอลย้อนเล่าไปถึงภาพยนตร์เรื่อง “Minority Report” ภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2002 ที่ได้ทำนายอนาคตของโลกในปี 2054 ไว้อย่างน่าเหลือเชื่อ เช่น การฉายโฆษณาสามมิติบนท้องถนนที่ระบุตัวตนคนเดินไปมาได้ AI บริการภายในร้านค้าปลีกที่สามารถระบุและจดจำรายละเอียดของแต่ละบุคคลได้ หรือแม้แต่พล็อตเรื่องสำคัญในการคาดการณ์เหตุอาชญากรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต โดยคุณพอลได้กล่าวถึงกรณีเทียบเคียงที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เช่น กรณีของตำรวจในประเทศจีน ที่ใช้ระบบ Facial Recognition ในการระบุตัวคนร้ายท่ามกลางคอนเสิร์ตที่มีคนกว่า 60,000 คน เทคโนโลยี 3D Printing ที่ไม่ได้ใช้ผลิตสิ่งของในโรงงานเท่านั้น แต่อาจดัดแปลงใช้ผลิตเสื้อผ้าแบบ On-demand ที่ปลายทาง สามารถเลือกแบบและฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเวลานั้น ทำให้ไม่ต้องขนสัมภาระจำนวนมาก เมื่อเดินทางข้ามทวีปซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า

 

เรื่องนี้อาจยังไม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นแล้วในด้าน Healthcare ซึ่งตัวอย่างที่คุณพอลยกขึ้นมาคือ Meticuly Startup ไทยที่พัฒนาระบบผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนด้วย 3D Print หากนำระบบนี้กระจายไปทั่วโลก ก็จะลดค่าขนส่งชิ้นส่วนซึ่งมีต้นทุนสูงมาก

 

“Deep Tech ที่เราเห็นวันนี้ไม่ใช่อนาคตของ FinTech แต่คือ อนาคตของเทคโนโลยีทุกสิ่งทุกอย่าง” คุณพอลกล่าว

Comments