332 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
จากงาน Techsauce Global Summit 2018 ที่ผ่านมา ในหัวข้อเสวนาเรื่อง “Is Today’s Deep Tech Tomorrow’s Fintech?” บนเวที Fintech คุณพอล พลภัทร อัครปรีดี – Managing Director, Corporate Venture Capital จาก Digital Ventures ได้ยกคำพูดของ Swati Chaturvedi นักข่าวชาวอินเดียเกี่ยวกับอนาคตของโลกธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุยของหัวข้อนี้ที่ดึงความสนใจคนฟังได้มาก
“บริษัทที่สร้างขึ้นจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรมที่มีความหมาย จะเป็นบริษัทที่พลิกโฉม เปิดหน้าใหม่ให้กับประวัติศาสตร์โลกในอีกสิบปีข้างหน้า”- Swati Chaturvedi
“การจะอยู่รอดในอนาคตขึ้นอยู่กับการก้าวไปข้างหน้ากับเทคโนโลยี” คุณพอลกล่าวเสริม “ไม่ใช่การพลิกโฉมองค์กร หรือกระบวนการใดๆ”
แล้วการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่เราจะได้เห็นกับกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง Deep Tech ในแวดวงการเงินบ้าง? คุณพอลแง้มให้เราเห็นถึง “อนาคตล่องหน” ของชีวิตที่ไม่ผูกติดกับสิ่งที่จับต้องได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเงิน (Invisible Commerce) การธนาคาร (Invisible Banking) หรือแม้แต่ทรัพย์สินต่างๆ (Invisible Assets)
การเงินล่องหน (Invisible Commerce)
“เหมือนเดิมนะคะ” เสียงหนึ่งกล่าว ก่อนที่คุณจะได้รับกาแฟเมนูโปรดที่ชงในแบบที่ถูกใจคุณ ถ้าเป็นตอนนี้ คุณคงคิดว่านี่คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในร้านกาแฟขาประจำที่ใส่ใจลูกค้า แต่ในอนาคตอันใกล้ เสียงนั้นอาจมาจาก AI ที่รู้ว่าคุณกำลังเดินเข้ามาถึงร้านด้วยการระบุที่อยู่ผ่าน Geolocation จดจำใบหน้าและเมนูโปรดของคุณด้วยระบบ Facial Recognition และ Big Data คุยกับคุณด้วยบทสนทนาที่ไหลลื่นจากการประมวลผลแบบ Natural Language Processing (NLP) และหักเงินจากบัญชีด้วย Cashless Transaction ทันทีที่คุณได้รับกาแฟ
“นัยยะของอนาคตที่มี Deep Tech อยู่ในระบบการเงิน ไม่ได้หมายถึงการมุ่งสู่การเป็น Cashless Society เพียงเท่านั้น” คุณพอลกล่าว “แต่ยังหมายถึงการผลิตและการให้บริการที่เป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalisation) จากเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Biometrics, Digital Identity, Geolocation, Facial Recognition, AI และ Machine Learning ที่จะผนวกรวมกัน เพื่อเก็บ วิเคราะห์และสร้างโปรไฟล์อินไซต์ลูกค้าเป็นรายบุคคล เพื่อนำเสนอสินค้า บริการหรือแม้แต่สื่อโฆษณาที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น”
การธนาคารล่องหน (Invisible Banking)
แม้เราจะเริ่มเห็นเทรนด์ Automation ในไทย เช่น SCB Express ต้นแบบศูนย์บริการลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เอง แต่เมื่อพูดถึงการให้คำปรึกษาด้านการเงินและธุรกิจ หรือแม้แต่การทำธุรกรรม เราก็ยังคงต้องอาศัยพนักงานและพื้นที่ของธนาคารอยู่ แต่ในอนาคตที่คุณพอลมองเห็น สิ่งเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีต
“อนาคตคือ การทำธุรกรรมธนาคารที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ (Banking anywhere, anytime)” คุณพอลกล่าวสรุป “หากเราสามารถรวมเทคโนโลยี AR/VR เข้ากับการยืนยันตัวตน (Authentication) รวมไปถึง AI และ Big Data ต่อไปอาจไม่มีความจำเป็นในการไปที่สาขาธนาคารจริง”
คุณพอลจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใน “ธนาคารล่องหน” ว่า “เมื่อลูกค้าสวม VR Headset ตัวเครื่องจะทำการยืนยันตัวตนผ่านระบบ และนำเข้าสู่ธนาคารเสมือนจริง โดยมี AI ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินการลงทุน ที่เข้าใจชีวิตในทุกด้านของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ที่ตรงกับโอกาสและไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากที่สุด”
ทรัพย์สินล่องหน (Invisible Assets)
“ในอนาคต บ้านจะกลายเป็นเหรียญที่เราจับต้องไม่ได้” คำกล่าวที่ฟังดูตลกนี้ไม่เกินจริงเลย กับเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังเป็นที่คุ้นเคยกันในกลุ่มนักลงทุนในขณะนี้ โดยแม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ทั้งตัวเทคโนโลยี Blockchain สกุลเงิน Cryptocurrency ต่างๆ และระบบการ Tokenization กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาปฎิวัติวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายๆ วงการ
“ตลาดทุนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Blockchain จะสามารถสร้างประสิทธิภาพ และความโปร่งใสได้ตลอดต่อเนื่องทั้งระบบ” คุณพอลกล่าว “โดยการแปลงทรัพย์สินเป็นโทเคน (Tokenization) จะทำให้เราสามารถใช้ Cryptocurrencies ต่างๆ สร้างสภาพคล่องในตลาด Blockchain ได้”
“นอกจากนี้ ICO (Initial Coin Offering) ยังเป็นสิ่งที่กำลังปฎิวัติวงการตลาดทุนแบบเดิม และการเงินองค์กร (Corporate Finance) ด้วยการเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ของทั้งสำหรับนักลงทุน และผู้ที่ต้องการระดมทุนรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพอีกด้วย”
อนาคตล่องหนแห่งมวลมนุษยชาติ (The Future of the Invisibles)
ก่อนจบการทอล์ค คุณพอลย้อนเล่าไปถึงภาพยนตร์เรื่อง “Minority Report” ภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2002 ที่ได้ทำนายอนาคตของโลกในปี 2054 ไว้อย่างน่าเหลือเชื่อ เช่น การฉายโฆษณาสามมิติบนท้องถนนที่ระบุตัวตนคนเดินไปมาได้ AI บริการภายในร้านค้าปลีกที่สามารถระบุและจดจำรายละเอียดของแต่ละบุคคลได้ หรือแม้แต่พล็อตเรื่องสำคัญในการคาดการณ์เหตุอาชญากรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต โดยคุณพอลได้กล่าวถึงกรณีเทียบเคียงที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เช่น กรณีของตำรวจในประเทศจีน ที่ใช้ระบบ Facial Recognition ในการระบุตัวคนร้ายท่ามกลางคอนเสิร์ตที่มีคนกว่า 60,000 คน เทคโนโลยี 3D Printing ที่ไม่ได้ใช้ผลิตสิ่งของในโรงงานเท่านั้น แต่อาจดัดแปลงใช้ผลิตเสื้อผ้าแบบ On-demand ที่ปลายทาง สามารถเลือกแบบและฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเวลานั้น ทำให้ไม่ต้องขนสัมภาระจำนวนมาก เมื่อเดินทางข้ามทวีปซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า
เรื่องนี้อาจยังไม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นแล้วในด้าน Healthcare ซึ่งตัวอย่างที่คุณพอลยกขึ้นมาคือ Meticuly Startup ไทยที่พัฒนาระบบผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนด้วย 3D Print หากนำระบบนี้กระจายไปทั่วโลก ก็จะลดค่าขนส่งชิ้นส่วนซึ่งมีต้นทุนสูงมาก
“Deep Tech ที่เราเห็นวันนี้ไม่ใช่อนาคตของ FinTech แต่คือ อนาคตของเทคโนโลยีทุกสิ่งทุกอย่าง” คุณพอลกล่าว
Most read this week
Trending
Comments
Please login หรือ สมัครสมาชิก to join the discussion