หยุด 3 ทำงาน 4 Work-Life Balance จริงหรือ

หยุด 3 ทำงาน 4 Work-Life Balance จริงหรือ

การจ้างงานและทรัพยากรบุคคล

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

271 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

วันนี้เราทำงานมากไปหรือเปล่า เรามีอะไรที่อยากทำในวันหยุดอีกหรือไม่ หรืออยากพักผ่อนต่ออีกสักหน่อย แล้วถ้าหากเราได้วันหยุดเพิ่มอีกหนึ่งวันล่ะจะดีไหม หลายคนอาจตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นในใจแบบเงียบ ๆ 

 

การหาเสียงเลือกในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองบางพรรคได้เสนอนโยบายให้มีการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นที่ถูกใจคนวัยทำงาน และมีข้อมูลสนับสนุนจากการทำโพลโดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล พบว่ามนุษย์เงินเดือนมีความชื่นชอบนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยมีตัวเลขเฉลี่ยถึง 81.12% อีกด้วย

 

สำหรับคุณที่เป็นเจ้าของกิจการอย่าเพิ่งรีบส่ายหน้าไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ลองมาดูตัวอย่างบางองค์กรที่เขาได้เริ่มทำกันไปแล้วว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้งก็ยังทัน 

 

องค์กรที่ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วส่วนใหญ่จะมีอยู่ในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยเองก็เริ่มมีนำมาใช้บ้างแล้วเหมือนกัน ตัวอย่างของบริษัทที่นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี เช่น Versa บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในออสเตรเลีย และบริษัทซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกา คือ Wildbit และ  Cockroach Labs หรือ บริษัทซอฟเเวร์การจัดการโครงการ Planio ที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ฯลฯ

 

แต่ก็มีการนำไปใช้บ้างในธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น ธุรกิจอาหารอย่าง Shake Shack ร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังของนิวยอร์ก บริษัทด้านการประชาสัมพันธ์ในประเทศอังกฤษอย่าง Radioactive PR และที่ค่อนข้างจะเป็นที่พูดถึงอย่างมากคือ Perpetual Guardian บริษัทด้านการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ในนิวซีแลนด์ หรือในฝั่งเอเชียเองก็มีบริษัท Aki Kosaku บริษัททำของเล่นและงานคราฟต์จากลังกระดาษของญี่ปุ่น ฯลฯ 

 

เท่าที่รวบรวมผลลัพธ์ของหลาย ๆ องค์กรที่ให้พนักงานหยุด 3 วัน ทำงาน 4 วัน นี่คือเหตุผลที่บอกได้ว่าพนักงานมี Work-Life Balance มากขึ้นกว่าเดิม

 

1. คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  แม้ว่าในแต่ละบริษัทอาจมีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแต่ละวันเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อแลกกันแล้วพนักงานย่อมคิดว่าคุ้มค่า เพราะมีเวลาสำหรับพักผ่อนเพิ่มมาอีก 1 วัน ทำให้สามารถจัดการเรื่องจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต หลายคนมีเวลาออกกำลังกาย หาความรู้เพิ่มเติม มีเวลาให้กับครอบครัว หรือวางแผนพักผ่อนได้ยาวนานขึ้น จึงส่งผลให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น

 

2. ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เมื่อถึงวันเริ่มต้นทำงาน พนักงานมีความเครียดน้อยลง ผ่อนคลายมากขึ้น จึงมีไฟในการทำงาน มีความกระตือรือร้น มีสมาธิ ความมุ่งมั่น มีไอเดียบรรเจิดจากการได้พักผ่อนเต็มที่ และที่สำคัญบริษัทสามารถทำกำไรได้สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ

 

3. ลดรายจ่ายทั้งของพนักงานและบริษัท สำหรับพนักงานสามารถช่วยลดรายจ่ายในเรื่องของการเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ได้มากทีเดียว ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น สามารถเก็บออมหรือนำไปลงทุนเพื่ออนาคตเพิ่มเติมได้ และสำหรับบริษัทเองก็ช่วยลดรายจ่ายต่าง ๆ ไปได้ไม่น้อยเช่นกัน เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าน้ำมัน ฯลฯ 

 

4. มีความรักและภักดีต่อองค์กรมากขึ้น เนื่องจากพนักงานลดความรู้สึกกดดัน ไม่เหนื่อยล้าในการทำงานมากเกินไป รู้สึกถึงความใส่ใจที่บริษัทมีให้แก่พนักงาน สร้างความรู้สึกที่ดี และมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น  จึงมีความพร้อมที่จะทุ่มเทการทำงานให้อย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมองเห็นข้อดีอยู่มากแต่ก็ยังมีข้อด้อยอยู่บางประการ นั่นก็คือ แนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ยังอาจใช้ไม่ได้กับธุรกิจทุกประเภท เช่น ธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า ประปา หรือด้านพลังงาน ยังจำเป็นต้องมีทีมงานที่คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา หรือสำหรับตำแหน่งงานที่จำเป็นต้องแข่งกับเวลา เช่น พนักงานขายที่ต้องทำยอดขาย หรือให้บริการลูกค้าตลอดเวลา ฯลฯ ทั้งเจ้าของกิจการและพนักงานอาจกังวลในเรื่องของยอดขายจนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นได้ 

 

 

Comments