มาแน่! Indoor Farming เทรนด์ปลูกผักในร่ม

มาแน่! Indoor Farming เทรนด์ปลูกผักในร่ม

การเกษตร

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

279 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง หลายอุตสาหกรรมได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือด ไม่เว้นแม้แต่วงการเกษตรกรรม ที่เกิดไอเดียในการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำให้เกิดขึ้นจริง ทำให้เกิดผลผลิตเป็นสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อีกระดับ

 

ล่าสุดมีเทรนด์เกษตรกรรมใหม่ที่เรียกว่า Indoor Farming หรือการเกษตรแบบในร่ม การเกษตรรูปแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป Indoor Farming นั้นเริ่มมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตทางเกษตรที่มีข้อจำกัดในสภาวะอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชและผลไม้บางชนิดได้ และปัญหาในการขนส่งระยะไกลที่ใช้เวลานาน ทำให้ผักผลไม้ไม่สดจนบางครั้งถึงขั้นเน่าเสีย

 

Indoor Farming สามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้ เพราะเป็นการเพาะปลูกในร่มจึงสามารถทำการเพาะปลูกที่ไหนก็ได้ มีระบบที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ แสงแดด ความชื้น ปริมาณน้ำ และปุ๋ย โดยระบบ Indoor Farming นั้นมีรูปแบบการเพาะปลูกที่หลากหลายทั้งแบบ Hydroponics, Aeroponics, Aquaponics และแบบ Hybrid ผสมผสานหลายรูปแบบการเพาะปลูกเข้าด้วยกัน อุปกรณ์ที่ในการเพาะปลูกแต่ละรูปแบบก็แตกต่างกัน 

 

ปัจจุบันจึงมีบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการในด้าน Solution สำหรับการเพาะปลูกแบบ Indoor Farming อย่างครบวงจร ตั้งแต่ดูแลการทำพื้นที่ปลูก เทคโนโลยี และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งระบบแสง ระบบควบคุมการให้น้ำ และระบบควมคุมสภาวะอากาศ อยู่หลายบริษัท เช่น Illumitex, Crop One และ Agrilution และคาดว่าต่อไปจะมีบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่ให้บริการด้าน Solution ของ Indoor Farming เกิดขึ้นมากมาย

 

ตัวอย่างเช่น Infarm เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้าน Solution จากเยอรมัน ได้ติดตั้งระบบ Indoor Farming ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเบอร์ลินและปารีส โดยติดตั้งตู้ปลูกผักขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อผักและผลไม้ ที่สดใหม่ สะอาด และปลอดภัย โดยไม่ต้องผ่านการขนส่ง นอกจากนี้ระบบปลูกผักในซูเปอร์มาร์เก็ตยังสามารถดูแลตัวเองได้ เพราะมีระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ คอยเก็บข้อมูล แทบไม่ต้องใช้คนมาดูแล ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง และยังลดต้นทุนในการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตในระยะยาวอีกด้วย

 

สำหรับในเอเชีย ประเทศจีนและญี่ปุ่นได้นำ Indoor Farming มาใช้แล้ว ซึ่งทั้งสองที่มีตลาดที่ชัดเจนและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้บริโภค โดยของจีนเป็นการปลูกพืชแบบโรงงานปลูกพืชขนาดใหญ่ ที่ใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์และแสงไฟ LED เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศ ที่มีความต้องการอาหารและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ส่วนที่ญี่ปุ่นนิยมการปลูกพืชแนวตั้ง มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้รักสุขภาพซึ่งยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผักและผลไม้ปลอดสารพิษ

 

จะเห็นได้ว่าข้อดีหลัก ๆ ของ Indoor Farming คือเป็นรูปแบบการเกษตรที่ประหยัดทรัพยากร สามารถควบคุมได้ทั้งพื้นที่ น้ำ ปุ๋ย แรงงานในการปลูก และเป็นการเพาะปลูกแบบระบบปิดจึงทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง สามารถควบคุมการผลิตได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมากกว่าการเกษตรแบบเดิม อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการขนส่ง แต่ก็มีข้อเสียคือใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าการเกษตรแบบเดิม และผลผลิตก็มีราคาแพง ตลาดผู้บริโภคในบ้านเราจึงยังไม่เปิดรับผลผลิตแบบ Indoor Farming มากเท่าในต่างประเทศ สำหรับไทย Indoor Farming จึงยังเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเติบโต และอาจจะมาแทนการเกษตรแบบเดิมในอนาคต

 

 

Comments