ความท้าทายใหม่ เมื่อไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน

ความท้าทายใหม่ เมื่อไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน

สุขภาพและไลฟ์สไตล์

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

281 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

จากการวิจัยพบว่าในช่วงหลายทศวรรศที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.4 เดือนต่อปี จากอายุไขเฉลี่ยเดิมอยู่ที่ 55 ปี ในปี 2504 เพิ่มเป็น 75 ปี ในปี 2559 และคาดว่าเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป อาจมีอายุขัยเฉลี่ยถึง 80-90 ปี จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกต่อไป ถ้าสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมอายุยืน และมีผู้ที่มีอายุขัยเฉลี่ยถึง 100 ปีมากขึ้น

 

ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 60 ปี อาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว เพราะยังมีร่างกายที่แข็งแรง สามารถอ่านหนังสือโดยไม่ต้องใส่แว่น ได้ยินเสียงโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง มีสุขภาพฟันที่แข็งแรง และสามารถเดินเหินได้คล่องแคล่ว อายุจึงถือเป็นแค่ตัวเลขเท่านั้น

 

ในหลายประเทศได้เปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการขยายอายุเกษียณออกไปเป็น 65 ปี สำหรับประเทศไทยล่าสุด ครม. ก็ได้มีการอนุมัติแก้ไขร่างกฎ ก.พ. ให้ขยายอายุเกษียณของข้าราชการระดับสูงจาก 60 เป็น 70 ปี ในสาขาที่ขาดแคลน

 

สิ่งไหนที่เราต้องปรับปรุงเพื่อรองรับสังคมอายุยืน

 

ความท้าท้ายใหม่จึงเกิดขึ้น เพราะทุกภาคส่วนต้องพัฒนาปรับตัวให้สามารถรองรับกับสังคมอายุยืนได้ เพราะต่อไปผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเราแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เราจึงสามารถดูเป็นตัวอย่างได้ว่าสิ่งไหนที่ประเทศเราจะต้องทำการปรับปรุงบ้างเพื่อให้สังคมอายุยืนนั้นอยู่ดีมีสุข เช่น

 

  • พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้มีคุณภาพ ให้ผู้สูงอายุสามารถไปใช้เวลาได้ เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์

  • พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้รองรับกับสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นการสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ในหลายพื้นที่ และมีลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงการปรับปรุงรถเมล์ทั้งเรื่องการควบคุมความเร็ว และป้ายโดยสารที่ไม่ต้องเดินไกล

  • เพิ่มอายุการเกษียณ จากปกติ 60 ปีเป็น 65 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้มีงานทำ ไม่ต้องเหงาอยู่บ้าน และเพิ่มระยะเวลาการหาเงิน เพื่อออมเงินไว้ใช้ต่อไปในอนาคต แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ยามแก่ เพราะผู้สูงอายุหลายคนอยู่คนเดียว จะรอพึ่งพาบุตรหลานไม่ได้

  • เสริมทักษะให้ผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ช่วยทำให้พวกเค้ารู้สึกดีกับตัวเอง และไม่รู้สึกว่าตัวเองล้าหลัง

 

ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน

 

เมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน ปัญหาหลายอย่างอาจเกิดขึ้น หากไม่ได้รับการรับมือจัดการกับปัญหาให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ ตัวอย่างของปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

  • การขาดแคลนคนในตลาดแรงงาน หลายคนเมื่ออายุถึง 55 ปี ก็ได้เกษียณตัวเองและรับสวัสดิการเงินบำนาญแล้ว เมื่อไทยมีอัตราผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง ในอนาคตก็อาจจะมีแรงงานในตลาดลดลง หากยังไม่ขยายอายุการเกษียณ

  • การใช้สวัสดิการรัฐเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้จะมีสุขภาพร่างกายภายนอกที่ดี แต่ผู้สูงอายุบางคนกลับมีโรคภายในเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และหัวใจ มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุหลายคนนั้นตัวคนเดียว ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ

  • กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย เพราะอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ ให้ผู้สูงอายุนั้นมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน เมื่ออายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น แปลว่าเงินที่ต้องจ่ายก็มากขึ้น ทำให้กองทุนประกันสังคมขาดสภาพคล่อง และอาจล้มละลายได้ในที่สุด

 

 

Comments