ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบอะไรบ้าง

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบอะไรบ้าง

เศรษฐกิจ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

374 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 เป็น 700 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และได้รับความสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย แน่นอนว่าสำหรับผู้ใช้แรงงานก็คงอมยิ้ม และส่งเสียงเชียร์อยากให้เป็นจริงขึ้นมา แต่ในส่วนของเจ้าของธุรกิจทั้งหลายก็คงนั่งไม่ติดเก้าอี้กันเลยทีเดียว เรื่องนี้มองให้ดีก็มีทั้งผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา

 

ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) แล้ว การคิดคำนวณค่าแรงขั้นต่ำนั้นต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน (คือรวมแล้วทั้งหมด 3 คน) ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน (ต่ำสุดคือ 300 บาท) นั้น เรียกได้ว่าไม่เพียงพอต่อการยังชีพอย่างแน่นอน แต่การขอขึ้นค่าแรงอีกเท่าตัวนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้จริงๆ ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้

 

• หากมองในมุมของลูกจ้างที่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า ค่าแรงที่ได้รับไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพที่ต้องเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะพยายามวางแผนการเงินอย่างไรก็ดูจะไม่มีทางดีขึ้นกว่านี้ได้ จนทำให้บางคนต้องมีการหารายได้เสริมหรือไม่ก็ต้องกู้ยืมทั้งจากในระบบและนอกระบบมาเพื่อจุนเจือตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดได้ในแต่ละเดือน หากมีการพิจารณาขึ้นค่าจ้างในอัตราดังกล่าวก็น่าจะทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ซึ่งหากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ ILO ได้ให้ไว้คือประมาณ 560 กว่าบาท ถือว่าค่าแรงของประเทศเรายังอยู่ห่างไกลจากที่ควรได้รับอยู่มากทีเดียว

 

• หากในมุมของเจ้าของธุรกิจก็คงไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ธุรกิจงานบริการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อย่างธุรกิจประเภทโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ที่ยังต้องใช้คนในการให้บริการอยู่ ยังไม่สามารถนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาทำแทนได้ และเมื่อต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจพวกนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุด แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโรงงานต่างๆ อาจได้รับผลกระทบน้อยลงไป เพราะได้มีการลงทุนนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตไปแล้วตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการขึ้นค่าแรงครั้งก่อน

 

สิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ

  1. - แรงงานมีเงินเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลงในระดับหนึ่ง คงเป็นสิ่งที่ตรงจุดประสงค์ของการขอขึ้นค่าแรง

  2. - อาจมีการปลดพนักงานออกมาจำนวนหนึ่ง เนื่องจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบไม่อาจจ่ายค่าแรงระดับนี้ จึงจำเป็นต้องลดพนักงานลงเพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

  3. - นายจ้างอาจมุ่งไปหาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนที่การใช้แรงงานคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายระยะยาว ผลเสียอาจถึงขั้นไม่มีงานให้คนทำอีก

  4. - เกิดการแข่งขันในตลาดแรงงานสูง อาจทำให้ค่าครองชีพสูงตาม แต่ทั้งนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นหากตลาดแรงงานมีนายจ้างผูกขาดอยู่ไม่กี่ราย ยังสามารถคงค่าครองชีพไม่ให้สูงมากได้

  5. - ปัญหาเรื่องเยาวชนออกมาทำงานก่อนจบการศึกษา ในเมื่อตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำล่อใจขนาดนี้ อาจมีเยาวชนที่อยากออกมาทำงานก่อนเวลา จนทำให้เกิดปัญหาตามมา

  6. - และหากคิดรวมๆ เงินเดือนเดือนหนึ่งของพนักงานจะตกอยู่ที่ราวๆ สองหมื่นบาทต่อคน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จบปริญญาตรีคงร้องโวยวายกัน เพราะพวกเขาเองยังได้เงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 15,000 บาท คงต้องมีการปรับเพิ่มกันอีกหรืออย่างไร

 

สุดท้ายคงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียกันให้ถี่ถ้วน ซึ่งก็เห็นใจทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหาในระยะยาว อาจต้องไปแก้กันที่ทักษะของแรงงาน เร่งสร้างแรงงานให้มีฝีมือและประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะต่อไปตลาดแรงงานคงต้องวัดกันที่คุณภาพมากกว่าแล้ว

 

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบอะไรบ้าง

Comments