304 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที
สำหรับผู้ที่กำลังสนใจในเรื่องของการส่งออก มาเรียนรู้ถึงขั้นตอนหลัก ๆ ในกระบวนการส่งออก ซึ่งก็มีอยู่หลายขั้นตอน แต่สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ การเตรียม การจัดส่ง และการเรียกเก็บเงิน
เตรียมเอกสาร หาตลาด และเตรียมสินค้า
ขั้นตอนการเตรียมนี้เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของธุรกิจในการจัดตั้งเป็นบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมาย คือ
การจดทะเบียนพาณิชย์เป็นนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์, การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร, การจดทะเบียนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าที่จำหน่าย เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ต้องจดทะเบียนสวนผลไม้เพื่อการส่งออกที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สินค้าประมง ต้องขออนุญาตและจดทะเบียนเป็นผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ดอกกล้วยไม้ ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การเสนอจำหน่ายสินค้าและราคาแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ
การรับคำสั่งซื้อ และเตรียมสินค้า
การติดต่อขนส่ง และจัดเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออกตามที่ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าในต่างประเทศได้แจ้งว่ามีเอกสารใดที่ผู้ส่งออกต้องแนบไปพร้อมกับการส่งออก
พิธีการศุลกากร และการจัดส่งสินค้า
เนื่องจากในขั้นตอนของพิธีการศุลกากร การตรวจเอกสาร การตรวจสินค้า มีรายละเอียดมากและผิดพลาดไม่ได้ ผู้ส่งออกบางรายจึงนิยมใช้บริการ ตัวแทนออกของศุลกากร หรือ Customs Broker หรือ Shipping Agent ในการทำหน้าที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยอาจครอบคลุมถึงการจัดหาเรือบรรทุกสินค้า การจัดทำเอกสารทางด้านศุลกากร และการปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมศุลกากร
ขั้นตอนย่อยของพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าแต่ละชนิดอาจจะต่างกันตรงที่การขอใบรับรองเพื่อส่งออกไปพร้อมกับสินค้า สามารถหารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการส่งออก ที่ www.depthai.go.th สรุปขั้นตอนโดยทั่วไป ดังนี้
การขอใบรับรองทางด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้า เช่น การขอใบรับรอง Health Certificate สำหรับสินค้าอาหาร ผัก ผลไม้ สินค้าประมง
การขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้นำเข้าได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากรในตอนนำเข้า และทำให้สินค้าของไทยมีความได้เปรียบทางด้านราคา
ติดต่อจองเรือบรรทุก หรือเครื่องบิน ในกรณีที่ต้องขนส่งทางอากาศ ทำเรื่องการประกันภัยสินค้าให้เรียบร้อย
วางแผนจัดการส่งออกตามเงื่อนไขที่ผู้ซื้อระบุไว้ในหนังสือสั่งซื้อสินค้าที่เรียกว่า L/C หรือ Letter of Credit ทุกประการ มิฉะนั้นอาจจะไม่ได้รับเงินค่าสินค้า
จัดทำเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งจะต้องมีเอกสารต่อไปนี้
ใบขนสินค้าขาออก
บัญชีราคาสินค้า (Invoice) จำนวนต้องเท่ากับจำนวนใบขนสินค้าขาออกที่ยื่นทั้งหมด
บัญชีรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ (Packing List)
คำร้องขอให้ทำการตรวจสินค้าและบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์
การผ่านพิธีการศุลกากร มี 2 ระบบให้เลือกใช้
ระบบ Manual เริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบพิกัด ประเมินราคาสินค้าในกรณีที่ต้องเก็บอากร จากนั้นก็บันทึกเข้าคอมพิวเตอร์ แล้วตรวจปล่อยสินค้า นำของออกจากการท่าเรือ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการศุลกากร
ระบบ EDI ระบบนี้ผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเป็นผู้ใช้ระบบ EDI ล่วงหน้า ภายใต้ระบบนี้ ผู้ส่งออกจะบันทึกข้อมูลใน Invoice และใบขนสินค้าออกในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ส่งออกเอง แล้วส่งข้อมูลเข้าไปที่กรมศุลกากร เมื่อกรมศุลกากรตรวจสอบถูกต้องแล้วก็จะแจ้งวันเวลาที่จะต้องมาจ่ายเงินค่าธรรมเนียม จากนั้นก็ตรวจปล่อยสินค้าลงเรือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการศุลกากร
ผู้ส่งออกแนบเอกสารการส่งออกและใบรับรองทุกอย่างไปพร้อมกับสินค้า
การเรียกเก็บเงิน
เมื่อได้ทำการจัดส่งสินค้าแล้วไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางเครื่องบินก็ตาม ผู้ส่งออกต้องส่งเอกสารสำคัญให้กับธนาคารของผู้ขายเพื่อเรียกเก็บเงิน เอกสารสำคัญดังกล่าว ได้แก่ L/C หรือใบสั่งซื้อ, Bill of Lading ออกให้โดยตัวแทนเรือหรือเครื่องบินที่ขนส่ง, Invoice, Packing List และ Bill of Exchange
จากนั้นธนาคารของผู้ขายจะตรวจเอกสารแล้วจัดส่งให้ธนาคารของผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารของผู้ซื้อจะแจ้งให้ผู้ซื้อไปจ่ายเงินแล้วโอนเงินนี้ให้แก้ผู้ขายผ่านธนาคารตัวแทนของผู้ขาย จึงเสร็จสิ้นการเรียกเก็บเงินค่าสินค้า
คอมพิวเตอร์ควอนตัมคืออะไร ส่งผลกับโลกของเรายังไง?
248 week ago
มาทำความเข้าใจกับยุค Crowd-based Capitalism
248 week ago
Most read this week
Trending
Comments
Please login หรือ สมัครสมาชิก to join the discussion