268 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที
สมัยก่อนเวลาที่เราจะฝากส่งพัสดุใด ๆ ก็ตามเราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้บริการจากไปรษณีย์ไทย แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราก็เริ่มที่จะคุ้นเคยกับบริษัทที่ให้บริการในเรื่องของการขนส่งชื่อใหม่ ๆ มากขึ้น หลายบริษัทที่เราคุ้นเคยก็เป็นบริษัทจากต่างชาติที่มาพร้อมเงินลงทุนจำนวนมหาศาลและเทคโนโลยีที่มีความพร้อมมากด้วยเช่นกัน
ขนส่งต่างชาติบานกว่าดอกเห็ด
ต้องยอมรับว่าตัวเร่งให้บริษัทขนส่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดนั่นก็คือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีเรื่องของการขนส่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศสำคัญของธุรกิจทั้งที่เป็นดิจิทัลและไม่เป็นดิจิทัล คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับชื่อของ Kerry Express, Lalamove, GrabExpress, Lineman, TNT ฯลฯ ล้วนแต่เป็นบริษัทต่างชาติแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทของไทยที่ได้มีการจับมือกับบริษัทต่างประเทศ เช่น SCG Express ที่จับมือกับบริษัทขนส่งญี่ปุ่น การร่วมทุนระหว่าง Flash Express กับนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์จนเป็น Flash Logistic และ DHL Express บริษัทยักษ์ใหญ่ขนส่งข้ามทวีปจากเยอรมัน
โดยเฉพาะใน 1-2 ปีมานี้สังเกตว่าจะเริ่มเจอบริษัทขนส่งจากประเทศจีนที่มีเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น SF Express, Shentong Express, Best Express, CTT EXPRESS, J&T Express บริษัทจากจีนเหล่านี้ที่มีการลงทุนใช้ดาราที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาเป็นพรีเซนเตอร์ แข่งขันในด้านราคากันอย่างน่ากลัว ยักษ์ใหญ่เหล่านี้มาพร้อมกับเงินมหาศาลที่มาหั่นราคากันเพื่อให้ได้มาร์เก็ตแชร์มากที่สุด ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกในเรื่องของราคาอย่างมาก
ไปรษณีย์ไทยจะรักษาที่หนึ่งได้นานแค่ไหน
แม้ว่ารายได้ของไปรษณีย์ไทยยังครองสัดส่วนในตลาด 50-60% ก็ตาม แต่อัตรา growth rate ของรายได้ต่ำลงและกำไรตกลง ซึ่งน้อยกว่าเอกชนถึงเกือบ 10 เท่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยโตปีละ 10% ในขณะที่ Kerry Express กำไรโตขึ้นมากอย่างต่อเนื่องถึงปีละ 100% และปัจจุบันเบียดขึ้นมาเป็นเบอร์สองได้อย่างน่ากลัว และปีนี้จะเป็นปีที่ธุรกิจโลจิสติกส์มีการแข่งขันที่น่ากลัวมาก
จากที่เคยทราบกันว่าไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งในเรื่องของจำนวนสาขาและบุรุษไปรษณีย์หรือพนักงานนำส่งที่มีความชำนาญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันจุดแข็งตรงนี้บริษัทขนส่งของเอกชนก็สามารถทำได้ทัดเทียม โดยบริษัทขนส่งเอกชนเหล่านี้ได้กระจายตัวอยู่ในทั่วประเทศและมีพนักงานขับรถที่มีความเชี่ยวชาญไม่แตกต่างกันแล้ว
เม็ดเงินและเทคโนโลยี ตัวช่วยในการเป็นผู้ชนะ?
แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวกว่าอยู่ที่บริษัทขนส่งเอกชนเหล่านี้มีเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้มาใช้บริการได้มากกว่า และมีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่จะมาช่วยสนับสนุนธุรกิจ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีอย่าง Big Data, AI, Machine Learning เข้ามาใช้แข่งขันกัน เช่น ใช้ในการคำนวณเส้นทางเดินรถที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้คำนวณค่าส่งสินค้าที่คุ้มค่าและถูกที่สุด หรือคำนวณวางแผนเพื่อไม่ให้มีการวิ่งรถเที่ยวเปล่า ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำมาใช้จะสามารถช่วยลดต้นทุนของแพลตฟอร์มได้อย่างดี
นอกจากนั้นเรื่องของบริการก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาเรื่องของบริการชำระเงินปลายทางหรือ COD ซึ่งแต่เดิมไปรษณีย์ไทยก็มีบริการนี้แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักและชำระเงินสูงสุดได้เพียง 3,000 บาทเท่านั้น ดังนั้น การทำ COD จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้มาร์เก็ตเพลสอย่าง Lazadaและ Shopee เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับการโตของ Kerry Logistics จากช่วงแรกที่มีการให้บริการขนส่งฟรีหรือมีค่าขนส่งถูกมาก ส่วน Kerry เองก็เปิดบริการเก็บเงินปลายทางเป็นเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย จุดนี้จึงกลายเป็น game changer ของธุรกิจขนส่งเลยทีเดียว
และยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันบรรดามาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ต่างก็เปิดให้บริการเรื่องการขนส่งเองอย่าง Lazada มี Lazada Expres, Shopee มี Shopee Express และ JD Central เองก็มี JD-Express ธุรกิจขนส่งในวันนี้จึงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันโหดมากที่สุดก็ว่าได้ ทุกคนต้องการทุบราคาเพื่อให้ตนเองได้มาร์เก็ตแชร์และเหลือสุดท้ายเพียงเจ้าเดียว ผู้บริโภคคือคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในช่วงนี้
คำถามคือธุรกิจขนส่งที่เป็นของคนไทยเราเองจะสู้ไหวหรือไม่ คู่แข่งหน้าใหม่มาเยอะและเร็ว เจ้าของธุรกิจจะมามัวอุ้ยอายไม่ได้อีกต่อไป ต้องสร้างทีมขึ้นมาใหม่ให้มีความเร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น สามารถบริหารจัดการได้เอง และลองนำคนรุ่นใหม่ ๆ ไปบริหารจัดการด้วยมุมมองใหม่ที่มีอิสระ เราก็อาจจะได้ธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถเอาไปแข่งขันกับเขาได้อย่างสูสี
คอมพิวเตอร์ควอนตัมคืออะไร ส่งผลกับโลกของเรายังไง?
248 week ago
มาทำความเข้าใจกับยุค Crowd-based Capitalism
248 week ago
Most read this week
Trending
Comments (1)
Please login หรือ สมัครสมาชิก to join the discussion