Food Delivery ธุรกิจบริการที่ยังโตได้อีก

Food Delivery ธุรกิจบริการที่ยังโตได้อีก

การพัฒนาธุรกิจ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

247 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

อยากกิน “ขนมปังไส้ทะลักเยาวราช ผัดไทยประตูผี โจ๊กสามย่าน หมูทอดเจ๊จง ส้มตำแซ่บวัน รัชดา ฯลฯ แต่ว่าอยู่ไกลและฝนใกล้ตกแล้วด้วย

 

แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา อยากกินต้องได้กิน ก็เดี๋ยวนี้น่ะเขามีบริการ Food Delivery 24 ชม. แล้วนะรู้ยัง

 

เรื่องกินเรื่องใหญ่ ปัญหาที่คนไทยยอมกันไม่ได้ ยิ่งในปัจจุบันที่เราก็มีอำนาจอยู่ในมือ ขอแค่มีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต (พร้อมเงินในกระเป๋า) เรื่องกินก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยสักนิด อยากกินอะไร ไกลแค่ไหน ก็สามารถสั่งอาหารมากินกันได้ทุกที่ทุกเวลา

 

Food Delivery ตอบโจทย์เรื่องการกินของคนกรุง

 

ปัญหาเดิม ๆ ของคนกรุงก็คือเรื่องของการจราจร ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารกี่ยุคกี่สมัยก็ตามก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ ธุรกิจ Food Delivery หรือบริการจัดส่งอาหารจึงเป็นการแก้ Pain Point ที่สำคัญให้กับคนกรุงในเรื่องของการกิน

 

ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการเดินทางในเมือง เพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ทั้งยังได้กินอาหารอร่อยถูกปาก โดยมีการกำหนดค่าบริการต่าง ๆ ไว้แล้วอย่างชัดเจนทำให้การวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดทำได้ง่ายขึ้น

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Food Delivery นั้น นอกจากเพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องการกินแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ อีกก็คือ

 

  1. จำนวนการครอบครองสมาร์ทโฟนที่รองรับแอปพลิเคชันในการสั่งอาหารมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

  2. การครอบคลุมพื้นที่ของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีอยู่ทั่วทุกแห่ง

  3. จำนวนผู้ให้บริการขนส่งทั้งที่เป็นบริษัทและเป็นอิสระอย่างวินมอเตอร์ไซค์ก็มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

Food Delivery Application จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร

 

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารที่มีบริการในรูปแบบของเดลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 18% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ดี ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้หันมาให้ความสนใจที่จะพัฒนาในเรื่องของการทำแอปพลิเคชันในการสั่งและจัดส่งอาหารที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด และพัฒนาในเรื่องของการขนส่งให้ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างที่สุด

 

เห็นได้จากบริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่สองเจ้าอย่าง “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” และ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG” ที่เปิดตัว Food Delivery Application บริการสั่งอาหารจากร้านในเครือของตนได้ในแอปพลิเคชันเดียว

 

โดยทางไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เปิดตัวแอปพลิเคชัน “1112Delivery” อิ่มครบจบในแอปเดียว ที่สามารถสั่งอาหารจาก 7 ร้านดังของค่าย คือ The Pizza Company, BurgerKing, Sizzler ฯลฯ ส่วน CRG ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน "CRG 1312" สั่งครั้งเดียว อร่อยหลายร้าน สามารถสั่งอาหารจากร้านในเครือที่มี 11 แบรนด์ คือ Mister Donut, Auntie Anne’s, Pepper Lunch ฯลฯ และยังจะดึงร้านอาหารนอกเครือโดยเฉพาะสตรีตฟู้ดมาให้บริการด้วย โดยทั้งคู่คิดค่าบริการจัดส่งในราคาเดียวคือ 50 บาทเท่ากัน

 

การมีแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร นอกจากเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารแล้ว ยังทำให้เกิดสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ

  • การสร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ห่วงโซ่ของธุรกิจ เช่น พนักงานของร้าน ร้านอาหารขนาดเล็ก ผู้ที่ให้บริการขนส่ง ฯลฯ

  • ผู้บริโภคมีตัวเลือกของรายการอาหารที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเป็นการรวมร้านอาหารมาไว้ในที่เดียว

  • ผู้บริโภคมีช่องทางการสั่งซื้ออาหารมากขึ้นกว่าเดิม

  • ค่าจัดส่งสินค้าคือรายได้ของคนในห่วงโซ่ธุรกิจอย่างพนักงานขนส่ง วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

  • ร้านอาหารขนาดเล็กที่เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มสามารถขยายฐานลูกค้าได้ เพิ่มรายได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของการขนส่ง

 

เรียกได้ว่าธุรกิจบริการจัดส่งอาหารเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและยังสามารถเติบโตได้อีก แว่วว่ามีผู้เล่นรายใหญ่อย่างอิเกียเองก็จะมีการเปิด “บริการส่งอาหาร” กับเขาด้วยในเร็ว ๆ นี้

 

 

Comments