เมื่อแบงก์มาทำมาร์เก็ตเพลส SMEs ได้อะไร

เมื่อแบงก์มาทำมาร์เก็ตเพลส SMEs ได้อะไร

อีคอมเมิร์ซ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

315 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

จากการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้ธนาคารของไทยสามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับ e-commerce ได้ ประกาศนี้น่าจะเป็นการเพิ่มอาวุธเพื่อรับมือกับการมาของบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศอย่าง Alibaba หรือ JD.com ฯลฯ

ธุรกิจ e-commerce มีจุดเด่นสำคัญคือการมีฐานข้อมูลในเชิงลึกทั้งของลูกค้าและผู้ขายใน marketplace ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางธนาคารยังไม่มี นอกจากนี้รูปแบบธุรกิจ e-commerce ของจีนได้ฉีก business model ที่มีการให้บริการแบบครบวงจรทั้ง e-commerce, e-payment ฯลฯ มีการสร้างระบบนิเวศที่มีทุกอย่างในตัวเอง เมื่อกลุ่มบริษัทเหล่านี้กำลังเข้ามาทำธุรกิจในไทยแน่นอนว่าเป้าหมายที่ต้องการก็คือการเอาข้อมูลมาบูรณาการและนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อคนไทย ที่สำคัญจะเริ่มมีการปล่อยกู้ซึ่งจะปล่อยให้ทั้งกับกลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายของออนไลน์ ข้อได้เปรียบของ e-marketplace ก็คือสามารถรู้ในเรื่องการหมุนเวียนของเงินในแต่ละธุรกิจที่อยู่ใน marketplace หมดแทบทุกด้าน ซึ่งโอกาสในการปล่อยกู้ให้ธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากแต่อย่างใด

เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารของไทยสามารถดำเนินธุรกิจด้าน e-commerce หรือ e-marketplace ได้ วันนี้ธนาคารไทยจึงต้องมีการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น นั่นคือธนาคารควรมีช่องทางที่จะให้บริการลูกค้าบนแพลตฟอร์ม e-commerce ได้อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการในระดับ SMEs

Marketplace ใหม่นี้กลุ่มเป้าหมายใหญ่ก็คือกลุ่มลูกค้าของธนาคารซึ่งก็คือกลุ่มที่เป็น SMEs กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิต ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือแทนที่ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางในการขายเองก็สามารถที่จะนำเอาธุรกิจของตนเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของธนาคารซึ่งจะมีบริการต่างๆ ให้ครบวงจร ธนาคารจะทำการโปรโมทเพื่อให้เกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการใน marketplace ของตน ข้อได้เปรียบของธนาคารก็คือการมีลูกค้าและมีฐานข้อมูลของลูกค้าอยู่ในมือ เมื่อลูกค้าเข้ามาขายของใน marketplace ของธนาคารจะทำให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ นั่นคือการที่ธนาคารสามารถนำเสนอบริการที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือ SMEs ได้มากยิ่งขึ้น

การแข่งขัน e-commerce ในประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่เกมของรายย่อยอีกต่อไป การที่ธนาคารมีข้อมูลลูกค้าอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ธนาคารสามารถขึ้นมาต่อสู้กับผู้ให้บริการจากต่างชาติได้ ซึ่งขณะนี้มีหลายธนาคารที่เริ่มทำแล้ว และถือว่าจะเป็นทางออกที่ดีหากธนาคารไทยจับมือกับ e-marketplace ของไทยเองแล้วร่วมมือกันไม่เช่นนั้น marketplace ของไทยเองนั่นแหละที่จะถึงจุดจบและแน่นอนต้องส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อบรรดาผู้ประกอบการของไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นนี้น่าจะทำให้ e-commerce จากต่างประเทศหันมาสนใจธนาคารมากขึ้นก็เป็นได้ ข้อดีอีกข้อที่เกิดขึ้นก็คือการที่ SMEs ไทยมีตัวเลือกมากขึ้นจากที่ต้องหาช่องทางขายไปต่างประเทศเพียงอย่างเดียวก็จะมีแพลตฟอร์ม e-marketplace ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมา ซึ่งมาร์เก็ตเพลสที่ดำเนินการโดยธนาคารของไทยน่าจะมีความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้าเป็นอย่างดี จะทำให้มีการดำเนินการและสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้ง่ายดายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสำหรับผู้บริโภคแน่นอนจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการแข่งขัน e-commerce ที่รุนแรงครั้งนี้ เพราะมีตัวเลือกที่มากขึ้น คาดว่าประมาณกลางปีหรือปลายปีนี้จะมีผู้ให้บริการ e-marketplace ที่มากขึ้นอีกหลายรายทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ e-commerce เมืองไทยโตได้เร็วมากขึ้นและจะมีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกันซึ่งจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ธุรกิจออฟไลน์ที่ไม่ปรับตัวอยู่ไม่ได้ SMEs หรือผู้ประกอบการใดที่ยังไม่เข้ามาสู่ออนไลน์นับว่าอยู่ในจุดเสี่ยง จำเป็นต้องรีบปรับตัวให้ทันเวลา ธนาคารเข้าสู่ยุคการปรับตัว ธุรกิจ e-commerce ก็ต้องรีบปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง

 

เมื่อแบงก์มาทำมาร์เก็ตเพลส SMEs ได้อะไร

Comments (2)