5 วินัยทางการเงิน เพื่อ SMEs อยู่รอด

5 วินัยทางการเงิน เพื่อ SMEs อยู่รอด

กลยุทธ์

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

296 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

การประกอบธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ล้วนมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง “เงิน” ซึ่งอาจถือว่าเป็นปัจจัยต้น ๆ เลยก็ว่าได้ การมีวินัยทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจเป็นอย่างมาก และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤติทางการเงิน ผู้ประกอบการจึงต้องมีวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจ

 

ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ มักเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการมีวินัยทางการเงินที่ไม่ดีหรือยังดีไม่พอ ทำให้ไม่สามารถทราบถึงต้นทุน-กำไรได้อย่างแท้จริง และส่งผลให้ธุรกิจขาดดุล จนนำพาไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

 

วินัยทางการเงิน จึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจส่วนใหญ่เลือกทำ โดยร้อยละ 69 ของนักธุรกิจที่มีการตรวจสอบการเงินที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นประจำมีโอกาสประสบความสำเร็จในทางธุรกิจมากกว่าธุรกิจที่ละเลยวินัยทางการเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการจะทราบถึงกระแสเงินที่หมุนเวียนผ่านเข้า-ออกบัญชีในทุกช่วงเวลา ทำให้ผู้ประกอบการสามารถคาดคะเนถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและจัดการป้องกันได้ทันท่วงที

 

5 วินัยทางการเงิน เพื่อ SMEs อยู่รอด

 

1. ทำบัญชีรับ-จ่าย และตรวจสอบการเงินอย่างสม่ำเสมอ ผู้ประกอบการหลายรายมีบัญชีรายรับ-รายจ่ายหมุนเวียนเข้า-ออกอยู่ตลอด แต่กลับไม่ไม่รู้ว่ายอดเงินในส่วนที่เป็นกำไรนั้นคือเท่าไร และไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรหรืออย่างไรบ้าง นั่นอาจเป็นเพราะการละเลยที่จะทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งการละเลยนี้บ่งบอกได้ถึงความประมาทของผู้ประกอบการเอง หากไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย อาจส่งผลให้ธุรกิจขาดดุล สภาพคล่องทางการเงินติดขัด จากการใช้จ่ายเกินกำลัง และหยิบเงินส่วนตัวมาใช้ลงทุนกับธุรกิจโดยไม่จำเป็น

 

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เปรียบเหมือนเงาสะท้อนที่แสดงสถานะการเงินที่แท้จริงของธุรกิจออกมา เพราะนอกจากทำให้เราทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รายได้ที่ได้รับ และส่วนต่างที่เป็นกำไร รวมไปถึงหนี้สินจากการกู้ยืมด้วยแล้วนั้น ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อพบช่องโหว่ที่ทำให้เงินรั่วไหล ก็จะสามารถปิดช่องโหว่นั้นได้ก่อนปัญหาจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

2. แยกบัญชีเงินส่วนตัวและบัญชีสำหรับธุรกิจ ออกจากกันให้ชัดเจน ผู้ประกอบการหลายราย ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะไม่มีบัญชีสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ หรือมีการหยิบเงินส่วนตัวลงทุนปะปนกับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นของธุรกิจ หรือหยิบเงินส่วนของธุรกิจมาใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้รายรับ-รายจ่ายไม่สอดคล้องกัน

 

การมีรายรับ-รายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่เห็นสภาพคล่องที่แท้จริงของธุรกิจ จากการนำเงินไปใช้ไม่ตรงส่วน หยิบเงินส่วนตัวไปลงทุนในธุรกิจ หรือหยิบเงินส่วนธุรกิจมาใช้ส่วนตัว

 

นอกจากนี้ การไม่แยกบัญชีออกจากกัน ยังส่งผลให้ไม่มีเงินทุนสำรองสำหรับธุรกิจ และทำให้กู้เงินได้ยากมากขึ้น ดังนั้น การแยกบัญชีออกจากกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินสำรองไปใช้ในยามคับขันได้อย่างไม่ติดขัด และส่งผลให้เห็นถึงสภาพคล่องของธุรกิจที่มีผลต่อการกู้เงินจากธนาคารอีกด้วย

 

3. ทำ Cash flow หรือ งบกระแสเงินสดล่วงหน้า หากกล่าวถึงการทำ Cash flow หรืองบกระแสเงินสดล่วงหน้านั้น มีองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสด ซึ่งการทำ แคช-โฟลว จะเป็นตัวชี้วัดว่าในแต่ละเดือนนั้น มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินได้ และสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ดีมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องพิจารณาและตรวจสอบบัญชีอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อป้องกันวิกฤติทางการเงินในแต่ละเดือน และเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ เงินเดือน ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

 

4. จ่ายเงินเดือนให้ตนเอง อย่าคิดว่าตนเป็นผู้ประกอบการแล้วเงินเดือนไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะในความเป็นจริง ผู้ประกอบการก็คือพนักงานคนหนึ่งที่ควรได้รับค่าจ้างสำหรับการทำงานเช่นกัน และค่าจ้างส่วนนี้ถือเป็นวิธีการบริหารทางการเงินอย่างหนึ่งเช่นกัน

 

การจ่ายเงินเดือนให้ตนเองนั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถแยกบัญชีส่วนตัวและธุรกิจออกจากกันได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

 

5. ติดตามผลของการลงทุนอยู่เสมอ ผู้ประกอบการบางรายมีความกล้าที่จะเสี่ยงในการลงทุน แต่ไม่ได้ตรวจสอบหรือติดตามผลว่าแท้จริงแล้วเงินที่ได้ลงทุนไปนั้น ได้ทุนคืนกลับมาหรือไม่ หากผลที่ออกมาไม่เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ นอกจากจะผิดหวังแล้ว ยังเกิดหนี้ก้อนโตอีกด้วย

 

การลงทุนในแต่ละครั้ง จึงควรติดตามผลของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมความเสี่ยงในวิกฤติทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อมั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

 


นอกจากทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีวินัยด้านอื่นๆ ที่เราทุกคนควรปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอง หรือลูกจ้างก็ตาม ควรสร้างวินัยทางการเงิน เพื่ออนาคตที่เจริญก้าวหน้าและมั่นคง

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างวินัยทางการเงิน อาจไม่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน หากแต่มีความอดทนและตั้งใจทำตามเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินและอิสระภาพทางการเงิน รวมไปถึงการไม่มีภาระหนี้สินในที่สุด จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมวินัยทางการเงินถึงสำคัญต่อการทำธุรกิจนัก

 

Comments