สรุปภาษี E-Commerce ปี 62

สรุปภาษี E-Commerce ปี 62

อีคอมเมิร์ซ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

250 week ago — ใช้เวลาอ่าน 3 นาที

 

สรุปภาษี E-Commerce ปี 62

 

ธุรกิจการขายของออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลของ ETDA พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยโตขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่าง 8-10% ต่อปี โดยแนวโน้มปี 2561 พุ่งสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษีอย่างที่ควรจะเป็น ภาครัฐจึงพยายามหาวิธีการที่จะดึงเม็ดเงินจากผู้ที่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ให้มีการเสียภาษีให้แก่รัฐอย่างถูกต้อง ในที่สุดจึงมีการออกกฎหมายภาษี e-payment หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562

 

การที่กรมสรรพากรได้ผลักดันให้ออกกฎหมายนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ทำธุรกิจบนออนไลน์ซึ่งมีรายได้แม้จะเป็นบุคคลธรรมดา จำเป็นต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้องและเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เพราะการที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทจะทำให้การติดตามในเรื่องภาษีค่อนข้างเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่ไม่น้อย

 

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการเลี่ยงภาษีไม่เฉพาะแต่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เท่านั้น ยังส่งผลไปถึงผู้ที่ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์อีกด้วย โดยสาระสำคัญกำหนดให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือผู้ที่ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง e-payment หรือ e-wallet มีหน้าที่ที่รายงานหรือส่งข้อมูลที่จะเข้าข่ายเป็น “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ให้กับกรมสรรพากรเพื่อนำไปตรวจสอบและจัดเก็บภาษี โดยต้องรายงานข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 หากผู้ให้บริการดังกล่าวไม่นำส่งข้อมูลจะมีโทษปรับเงินไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

สำหรับข้อมูลของบุคคลที่เข้าข่าย “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” มีดังนี้

  1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป

  2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป

 

การนำส่งข้อมูลทั้งหมดจะอ้างอิงจากเลขที่บัตรประชาชน 1 เลขหมายต่อ 1 ธนาคาร นั่นหมายถึงไม่ว่าจะมีการฝากหรือโอนเงินเข้ากี่บัญชีที่ผูกไว้กับเลขที่บัตรประชาชนเดียวกันใน 1 ธนาคาร ก็จะถูกรวมส่งเป็นข้อมูลเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นบัญชีที่เปิดคู่กับบุคคลอื่นก็ตาม

 

แต่ข้อกำหนดข้างต้นยังมีช่องว่างสำหรับผู้ที่มีบัญชีธนาคารหลาย ๆ ธนาคาร แม้จะใช้เลขที่บัตรประชาชนเดียวกันแต่จะไม่มีการรวมข้อมูลข้ามสถาบันการเงิน ดังนั้นหากสามารถกระจายตัวเลขได้ดีก็ยังมีช่องทางในการรับเงินได้มากพอสมควร แต่เรื่องที่ยังเป็นกังวลกันอยู่ก็คืออาจมีบางคนที่เลี่ยงไปใช้บริการสถาบันการเงินหรือผู้ที่ให้บริการการเงินจากต่างประเทศได้

 

หลังจากที่มีการออกกฎหมายตัวนี้อาจมีผลกระทบไปถึงเรื่องของ Cashless Society หรือการสแกน QR Code เพื่อจ่ายเงินให้ร้านค้าออฟไลน์ อาจทำให้หลายคนต้องการที่จะกลับไปใช้เงินสดเพราะปลอดภัยกว่าในเรื่องของการถูกตรวจสอบ จุดนี้อาจกลายเป็นความย้อนแย้งกับความพยายามผลักดันให้สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดหรือเปล่า

 

 

Comments